xs
xsm
sm
md
lg

Telegraph Medicine ช่วยรู้อาการผู้ป่วยเรียลไทม์ ลดอัตราตายขณะส่ง รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.มหาราชนครราชสีมา พัฒนาเทคโนโลยี “Telegraphic Medicine” รับข้อมูลผู้ป่วยทั้งภาพ เสียง คลื่นหัวใจ สัญญาณชีพ ความดัน ช่วยหมอรับทราบอาการแบบเรียลไทม์ สั่งการผ่านรถพยาบาล ช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤตระหว่างมา รพ. ป้องกันการเสียชีวิตระหว่างทาง เผยใช้งบประมาณน้อยกว่านำเข้า 5 - 10 เท่า

นพ.สุนทร ชินประสาทศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา กล่าวว่า การออกปฏิบัติงานการแพทย์ฉุกเฉินของ จ.นครราชสีมา ตกอยู่ปีละประมาณ 54,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เฉลี่ยปีละ 1,800 ราย ซึ่งโดยปกติรถพยาบาลฉุกเฉินจะติดตั้งเทคโนโลยี Telemedicine ซึ่งจะส่งข้อมูลไปยังศูนย์สั่งการการแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาลได้เพียงแค่สัญญาณชีพเท่านั้น ไม่สามารถสื่อสารและรับทราบข้อมูลผู้ป่วยระหว่างทางได้ ทำให้เมื่อผู้ป่วยฉุกเฉินเกิดภาวะวิกฤตระหว่างเดินทางมายังโรงพยาบาลจึงไม่สามารถช่วยเหลือได้ รพ.มหาราชนครราชสีมา จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เรียกว่า Telegraphic Medicine ช่วยให้ทราบอาการผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถส่งสัญญาณภาพ เสียงของผู้ป่วยภายในรถ สัญญาณชีพผู้ป่วย คลื่นไฟฟ้าหัวใจ สัญญาณจีพีเอส รวมถึงสามารถสั่งการจากศูนย์สั่งการไปยังรถพยาบาลฉุกเฉินได้โดยตรง เช่น หากขับรถเร็วเกินไปก็จะแจ้งเตือน สั่งวัดความดันได้ หรือหากผู้ป่วยมีภาวะวิกฤต แพทย์ที่อยู่ประจำศูนย์สั่งการก็สามารถสั่งการให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทำการช่วยเหลือได้ทันทีภายในรถ เป็นต้น เรียกว่าเป็นการสื่อสารแบบสองทาง

“เทคโนโลยีนี้ทำให้ทางโรงพยาบาลได้ข้อมูลของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ หากเกิดภาวะวิกฤตก็สามารถสั่งการให้ช่วยเหลือได้ทันที และเวลาในการเดินทางจากที่เกิดเหตุมายังโรงพยาบาลภายใน 10 นาที การรับทราบข้อมูลของผู้ป่วยอย่างละเอียด ช่วยให้รู้ความรุนแรง ความหนักเบาของผู้ป่วย ก็จะสามารถเตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้ทันท่วงทีและเหมาะสม จึงช่วยให้สามารถลดการเสียชีวิตระหว่างทางมาโรงพยาบาลได้ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบ พบว่า รถพยาบาลที่มีการติดตั้งเครื่อง Telegraphic medicine โดยไม่มีแพทย์ออกปฏิบัติการ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการมีแพทย์ออกปฏิบัติการ และมีประสิทธิภาพดีกว่ารถที่ไม่มีการติดตั้งเครื่องดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ” นพ.สุนทร กล่าว

นพ.สุนทร กล่าวอีกว่า หากเป็นต่างประเทศ การทำ Telegraphic Medecine มีราคาแพงมาก เพียงค่าลิขสิทธิ์ในการจัดตั้งเทคโนโลยีนี้ในศูนย์สั่งการก็ประมาณ 30 ล้านบาทแล้ว และการติดตั้งอุปกรณ์ในรถพยาบาลอีกไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อคัน แต่จากการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวขึ้นใช้เองเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใช้งบประมาณเพียง 29 ล้านบาท ในการติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือในศูนย์สั่งการและรถพยาบาล 32 คัน ถือว่าถูกกว่ากัน 5 - 10 เท่า สามารถรับชุดข้อมูลจากรถพยาบาลที่ติดตั้งเครื่องนี้ได้ถึง 60 ชุดพร้อมกัน โดยขณะนี้ได้ติดตั้งเทคโนโลยีนี้ในรถพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชน 27 แห่งใน จ.นครราชสีมา แห่งละ 1 คัน รถของมูลนิธิสว่างเมตตา 2 คัน และรถพยาบาล รพ.มหาราชนครราชสีมา อีก 4 คัน โดยเริ่มดำเนินการแล้วประมาณ 2 เดือนหลังจากพัฒนามานานกว่า 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำเป็นแอปพลิเคชันติดตั้งในสมาร์ทโฟนของแพทย์ด้วย ซึ่งช่วยให้สามารถรับข้อมูลจากรถพยาบาลเข้าโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้โดยตรงด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือ บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เป็นพื้นที่อับสัญญาณทำให้การเชื่อมต่อขัดข้องบ้างเล็กน้อย


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น