“วีระ” ยันเดินหน้าดันโขนมรดกภูมิปัญญา ระบุ สืบค้นประวัติได้ มีพัฒนาการต่อเนื่อง ใช้เทคโนโลยีช่วยประกอบการแสดง เชื่อไม่ขัดแย้งเขมร ย้ำภูมิปัญญาขึ้นทะดบียนระดับโลก ไม่จำเป็นต้องมีประเทศเป็นเจ้าของเฉพาะ ชี้อาเซียนมีวัฒนธรรมร่วมมาตั้งแต่อดีตจึงมีความคล้านยกัน
วันนี้ (7 มิ.ย.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวถึงกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียล เรื่องประเทศไทย เตรียมการเสนอการแสดงโขน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จนมีการเผยแพร่ภาพและข้อความที่เกี่ยวโยงกับการแสดงโขนของประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ว่า ต้นฉบับของจริงเป็นของประเทศใดกันแน่ และก่อให้เกิดความขัดแย้งบนโลกโซเชียล ว่า เรื่องนี้ วธ. ได้รับข้อมูลว่า สื่อประเทศกัมพูชาส่งข้อความต่อกันว่ากัมพูชาเป็นต้นตำรับของโขน ซึ่งคิดว่าน่าจะสืบเนื่องมาจากที่ วธ. ได้เปิดตัวหนังสือเรื่องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยกว่า 300 รายการ และได้พูดถึงการนำรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย เข้าสู่บัญชีมรดกภูมิปัญญาระดับโลก โดยตั้งเป้านำเสนอ 5 รายการ ได้แก่ โขน โนราห์ นวด มวยไทย และ อาหารไทย ในช่วงเดือนมีนาคม 2560 หลังจากไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกโดยสมบูรณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
นายวีระ ชี้แจงว่า ความจริงแล้ว การเสนอรายชื่อมรดกภูมิปัญญา ซ้ำไม่ได้เป็นประเด็นเพราะกฎบัตรในอนุสัญญาฯไม่ได้กำหนดว่าการเสนอมรดกภูมิปัญญาจะเสนอได้เพียงแค่ประเทศเดียว ซึ่งไม่เหมือนกับการเสนอรายชื่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ที่เสนอได้เพียงประเทศเดียว ทั้งนี้ มรดกภูมิปัญญาสามารถมีเหมือนกัน หรือมีคล้ายคลึงกันได้ เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ วธ. ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ยูเนสโกประจำประเทศไทย ก็ได้รับข้อมูลว่า ที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่นำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมรูปแบบเหมือนกัน แต่คนละช่วงเวลา อาทิ กิมจิ ที่ขึ้นทะเบียนทั้งประเทศเกาหลีเหนือ และ เกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนร่วมกัน 2 ประเทศ อาทิ ท่าเต้นลีลาศจังหวะแทงโก ที่ประเทศอาร์เจนตินา กับ อุรุกวัย และที่สำคัญ ในปีที่ผ่านมามีการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาเรื่องเดียวกันถึง 4 ประเทศ คือ ชักเย่อ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ เกาหลี ทั้งนี้ทั้งนั้น การเสนอรายการซ้ำกันจึงไม่ใช่ประเด็น
นายวีระ กล่าวต่อว่า จะสังเกตได้ว่า ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ดังนั้น อาเซียนจึงมีการกำหนดว่าต้องสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งสิ่งที่มีเหมือนกันก็แสดงให้เห็นว่าในอดีตประเทศอาเซียน มีสิ่งที่เหมือนกัน และในส่วนของ วธ. นั้น ในปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนขึ้น เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ความเหมือนและความต่างของผู้คนที่เป็นสมาชิกอาเซียน พร้อมกับได้จัดงานอาเซียนคัลเจอร์เอ็กซ์โป ขึ้นเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน และยังได้จัดรามายณะอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน เพราะฉะนั้นความเหมือนกันย่อมมีได้และมีการถ่ายทอดมาตั้งแต่อดีต แต่รูปแบบอาจไม่เหมือนกันทีเดียว ดังนั้น ทุกประเทศสามารถเสนอมรดกภูมิปัญญาในแบบฉบับของตนเองขึ้นสู่บัญชีมรดกภูมิปัญญาระดับโลกได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการสอบถามเรื่องดังกล่าวหรือไม่ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถาม ตนอธิบายไปว่า การนำเข้าสู่บัญชีมรดกภูมิปัญญาโลก ไม่ได้เป็นประเด็นที่จะสร้างความขัดแย้งได้ เพราะไม่ได้มีความหมายว่า จะต้องมีหนึ่งเดียวที่ประเทศใดจะเป็นเจ้าของเฉพาะ ท่านก็เข้าใจ และให้ทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนด้วย อย่างไรก็ตาม ไทยยังยืนยันที่จะนำเสนอโขนเข้าสู่บัญชีมรดกภูมิปัญญาโลกเป็นลำดับแรก เพราะโขนไทยสามารถสืบค้นประวัติได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งโขนแสดงถึงมรดกภูมิปัญญาหลายเรื่อง ทั้งวรรณคดี ท่ารำ เครื่องแต่งกาย พร้อมกันนี้ โขนไทยในปัจจุบันได้มีพัฒนาการอย่างมาก มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประกอบการแสดง ทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ดียิ่งขึ้น สำหรับแนวทางสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศนั้น คงเข้าใจกันดี เพราะไม่ได้มีความขัดแย้ง และในยุคนี้กระทรวงวัฒนธรรมไทย และ กัมพูชา ได้มีความสัมพันธ์ที่ดี และแนบแน่นอย่างมาก ไม่เฉพาะระดับรัฐมนตรีเท่านั้นแต่ยังลงถึงระดับเจ้าหน้าที่ด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่