ศึกชิง “โขน” ไทย - เขมร ระอุ ด้าน วธ.กัมพูชา ร่อนโอ่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ยูเนสโก นานแล้ว เตรียมขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกวัฒนธรรมอรูปปีหน้า เหน็บขึ้นทะเบียนมีกฎ ไม่ใช่ทำตามอารมณ์ หรือประกาศของประเทศใดประเทศหนึ่ง ฝั่งไทยรับยังไม่เป็นภาคีฯ บอกยินดีกับเขมร เล็งเสนอปีหน้าด้วย เหตุไม่มีลิขสิทธิ์ ขึ้นทะเบียนทีหลังไม่เป็นไร
จากกรณีประเทศไทยเตรียมเสนอ “การแสดงโขน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จนสื่อสังคมออนไลน์ของประเทศกัมพูชา มีการทำภาพและคลิปวิดีโอออกมาว่าการแสดงโขนนั้นเป็นของกัมพูชา ขณะที่โซเชียลมีเดียของไทย ก็ระอุ มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างหนัก ว่า ต้นฉบับของจริงเป็นของประเทศใดกันแน่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะ ของประเทศกัมพูชา ได้ออกหนังสือชี้แจงกรณีดังกล่าวเป็นภาษากัมพูชา โดยมีการแปลเป็นภาษาไทย มีเนื้อหาระบุว่า ในนามเป็นรัฐสมาชิกขององค์กรยูเนสโก กัมพูชาได้ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องมรดกวัฒนธรรมอรูป ซึ่งได้อนุญาตให้กัมพูชาได้ลงทะเบียนนาฏศิลป์เขมร หรือระบำพระราชทรัพย์เขมรในบัญชีมรดกวัฒนธรรมอรูปของมนุษยชาติ เมื่อปี 2546 ต่อมาได้จัดบัญชีรายชื่อมรดกวัฒนธรรมอรูปที่มีความสำคัญ เช่น หนังใหญ่ โขนกระจับปี่ยาว การทอผ้าไหม ฯลฯ เตรียมยื่นแก่องค์กรยูเนสโก ปรากฏว่า หนังใหญ่ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลกวัฒนธรรมอรูป เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2548 และการชักเย่อ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2558 และเมื่อเดือน มี.ค. 2558 กระทรวงฯ ได้จัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกระจับปี่ยาวไปยังองค์กรยูเนสโกเป็นที่เรียบร้อยและกำลังศึกษาจัดเอกสารที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับ เพลงอารักษ์ และโขน เพื่อเสนอขอลงทะเบียนเป็นมรดกโลกวัฒนธรรมอรูปในปีข้างหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ขอเรียนสาธารณชนทราบว่า สำหรับกิจการลงทะเบียนมรดกโลก หรือมรดกโลกวัฒนธรรมอรูปของมนุษยชาติ คือ ต้องปฏิบัติไปตามหลักกฎหมายและนิติวิธีสำคัญที่องค์กรยูเนสโกกำหนดให้สำหรับทุกชนชาติและทุกประเทศทั่วโลก มิใช่ทำขึ้นไปตามการประกาศ การคิดเห็นหรือตามอารมณ์ของผู้ใดผู้หนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ขอเรียนว่า คณะทำงานที่เชี่ยวชาญของกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะ ได้กำลังพยายามดำเนินการทุกวิธีทางตามที่ทำได้ โดยมีความประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมของประเทศชาติ
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในส่วนประเทศไทย ขอชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ซึ่งอยู่ระหว่างที่กระทรวงการต่างประเทศ ขอเข้าภาคีอนุสัญญา และการที่ประเทศกัมพูชา ได้เสนอการแสดงโขน เข้าสู่รายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาตินั้น เป็นเรื่องที่เราควรยินดีด้วย เพราะกัมพูชาได้เข้าสู่ภาคีอนุสัญญาแล้ว และตามหลักเกณฑ์ ประเทศสมาชิกที่เข้าสู่อนุสัญญาสามารถเสนอรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมได้ ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเสนอได้ เมื่อประกาศผลแล้ว จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้กับประเทศนั้น ๆ ไม่ได้เป็นการจดลิขสิทธิ์ หรือ แสดงความเป็นเจ้าของ แต่เป็นการประกาศความโดดเด่นที่แสดงการยอมรับให้กับคนทั่วโลก และสามารถสร้างและรวบรวมองค์ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง
นายวีระ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าแม้กัมพูชาจะเสนอโขน ซึ่งอาจมีความคล้ายคลึงกับไทย แต่ก็จะเป็นในแบบฉบับของเขา ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ที่คาดว่าจะนำเสนอการแสดงโขนขึ้นทะเบียนในปีหน้า ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ยูเนสโกประจำประเทศไทย ได้รับข้อมูลว่า ที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่นำเสนอมรดกทางวัฒนธรรม รูปแบบเหมือนกัน แต่คนละช่วงเวลา อาทิ กิมจิ ที่ขึ้นทะเบียนทั้งประเทศเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนร่วมกัน 2 ประเทศ อาทิ ท่าเต้นลีลาศจังหวะแทงโก ที่ประเทศอาร์เจนตินา กับ อุรุกวัย ซึ่งการขึ้นทะเบียนทั้งสองลักษณะนั้น ก็มีความมุ่งหมายที่จะสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมให้เกิดการอนุรักษ์ และได้รับการสืบทอดต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่