ประธานชมรม รพศ./รพท. ล็อกเป้า 4 สาเหตุหลัก ทำ รพ. ค้างจ่ายค่าตอบแทน P4P ระบุ ผลพวงจากการระงับจ่ายนานถึง 1 ปี เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ประเมินการจ่าย ทำให้ต้องทยอยจ่าย พ่วงสภาพคล่องการเงินผูกติดงบบัตรทอง ย้ำ ต้องแก้ให้ถูกจุดก่อนระบบล่มสลาย
วันนี้ (6 มิ.ย.) นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวถึงกรณี รพศ./รพท. ค้างจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (P4P) ว่า สาเหตุการค้างจ่าย มองว่า มี 4 สาเหตุหลักคือ 1. การระงับการจ่ายช่วง ต.ค. 2557 - ก.ย. 2558 เพราะยังไม่มีการประเมินหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนฉบับ 8 และ 9 ตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม ซึ่งกว่าจะมีการอนุมัติให้จ่ายได้ก็สิ้นเดือน ก.ค. 2558 แล้ว และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งให้จ่ายได้เมื่อ ต.ค. 2558 ทำให้มีการค้างจ่ายสะสมในโรงพยาบาลมากกว่า 12 เดือน
2. สถานะการเงินของ รพ. โดยเฉพาะ รพท. ขนาดเล็ก และจังหวัดที่มี รพศ./รพท. หลายแห่ง ซึ่งคงทราบกันดีอยู่ว่ารายได้หลักมาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรและจำนวนเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเอาเงินเดือนไปผูกรวมอยู่ด้วย และวิธีการจ่ายของ สปสช. ที่เป็นปัญหา
3. การทยอยจ่าย P4P เพราะหากจ่ายทั้ง 12 เดือน ต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งมีตั้งแต่ 15 - 50 ล้านบาทตามขนาด รพ. บางแห่งจึงจ่ายครั้งละ 2 - 3 เดือนทุกเดือน บางแห่งทุก 3 เดือน ตามสภาพคล่องของ รพ. เนื่องจากค้างหนี้เจ้าหน้าที่ได้ แต่ค้างหนี้บริษัทยา ครุภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ได้ เพราะอาจถูกฟ้องร้อง
4. ผู้บริหาร รพศ./รพท. ซึ่งรักษาวินัยทางการเงินการคลังได้ดี ยึดหลัก รพ. ต้องไม่ขาดสภาพคล่องเพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับผู้ป่วย ที่สำคัญ ผู้บริหาร รพศ./รพท. ไม่ได้รับผิดชอบการเงินแค่ใน รพ. แต่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดูแลในภาพรวมของจังหวัด รวมทั้งร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวง ดูแลในภาพรวมระดับเขต มีการชะลอหนี้ และยกหนี้ให้กันในหมู่พี่น้องรพศ/รพท.และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.)
“สรุปในภาพรวมมีการจ่ายแน่ ๆ แต่ต้องทยอยจ่าย มีเพียงไม่กี่ รพ. ซึ่งวิกฤตมาก ที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือกันเป็นการเฉพาะหน้า คงแค่บรรเทาอาการเท่านั้น ตราบเท่าที่ปัญหาเรื่องวิกฤตการเงินของ รพ. ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกจุด ลากกันไปเรื่อย ๆ แบบนี้คงจะเห็นการล่มทั้งระบบในเร็ววัน” นพ.ธานินทร์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่