xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เล็งต่อยอดโปรแกรมเยี่ยมบ้านผู้ป่วย “COC R9” ระดับประเทศ ลดภาวะแทรกซ้อน รีแอดมิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. ชูโปรแกรมเยี่ยมบ้านผู้ป่วย “COC R9” ผลงานเขตสุขภาพที่ 9 ส่งข้อมูลการดูแลผู้ป่วยหลังออก รพ. ผ่าน Cloud ช่วยเพิ่มการติดตามดูแลต่อเนื่อง ลดภาวะแทรกซ้อน ไม่ต้องกลับมารักษาซ้ำ เล็งประกาศนโยบายระดับประเทศ ขยายใช้ทุกเขตสุขภาพ รวมกลุ่มคนไข้ในพระราชานุเคราะห์

วันนี้ (3 มิ.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ ว่า เขตสุขภาพที่ 9 มีการพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลและการดูแลต่อเนื่องที่บ้านเป็นอย่างดี เพื่อลดอัตราตาย ลดภาวะแทรกซ้อน และลการกลับไปรักษาตัวซ้ำในโรงพยาบาล โดยเฉพาะการใช้โปรแกรม Continue of Care R9 หรือ COC R9 ซึ่งช่วยให้โรงพยาบาลที่ส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลใหญ่ สามารถติดตามดูแลผู้ป่วยหลังการส่งตัวกลับมายังชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการแทรกซ้อน จนต้องกลับมารักษาที่ยังโรงพยาบาลใหม่ (Readmit) ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมที่ดีมาก ซึ่ง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 9 ได้ประกาศให้เป็นนโยบายระดับเขต ทั้งนี้ นโยบายที่ดีตนอยากให้มีการกระจายออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น จึงได้กำชับให้ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. พิจารณานโยบายดังกล่าวว่าจะนำมาประกาศเป็นนโยบายระดับประเทศได้หรือไม่

นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สุรินทร์ กล่าวว่า การติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยหลังส่งกลับบ้านมี 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยที่ภาวะพึ่งพิง 2. ผู้ป่วยระยะสุดท้าย 3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาวะแทรกซ้อน 4. ผู้ป่วยวัณโรค 5. ผู้ป่วยจิตเวช และ 6. ผู้ป่วยที่ต้องมีการติดตามอาการต่อเนื่องหลังออกจากโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาระบบเดิมการส่งตัวผู้ป่วยกลับจะใช้เอกสาร เพื่อบอกอาการผู้ป่วย แนวทางการดูแลต่อเนื่องให้โรงพยาบาลที่ทำการส่งต่อ แต่พบว่าได้รับการตอบกลับมาเพียง 20% เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน ต้องกลับมารักษาตัวซ้ำสูงมากทั้งที่ควรจะหายดี จึงได้คิดค้นโปรแกรม COC R9 ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เป็นการเขียนโปรแกรมขึ้นมาใหม่ แต่อาศัยการส่งข้อมูลผู้ป่วยผ่าน Cloud ทำให้ไม่ต้องเสียเงินในการจัดตั้งเซิร์ฟเวอร์ ที่สำคัญทำให้การส่งข้อมูลเป็นแบบเรียลไทม์ เมื่อส่งกลับแล้วก็แจ้งพื้นที่ได้ทันที และสามารถบอกพิกัดคนไข้ที่ส่งกลับได้ ที่สำคัญยังสามารถใช้วิเคราะห์เชิงระบาดวิทยา ทราบจำนวนผู้ป่วย วิเคราะห์สุขภาพชุมชนได้

“จากการใช้โปรแกรม COC R9 ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558 - 1 มิ.ย. 2559 รวมเป็นเวลา 11 เดือนนั้น พบว่า การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ส่งตัวกลับจากโรงพยาบาลทั้งเขตสุขภาพที่ 9 มีทั้งหมด 95,794 ราย สามารถติดตามรายงานผลการดูแลได้ 87,560 ราย คิดเป็นร้อยละ 94 ซึ่งเมื่อก่อนไม่ทราบข้อมูลเลย นอกจากนี้ ยังพบว่า กว่า 2 ใน 3 มีอาการดีขึ้น ส่วน 1 ใน 3 อาการคงที่ ช่วยลดปัญหาภาวะแทรกซ้อน ไม่ต้องกลับไปรักษาซ้ำที่โรงพยาบาล ขณะนี้มีหลายจังหวัดนำโปรแกรมดังกล่าวไปในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เช่น ปทุมธานี ศรีสะเกษ และ มหาสารคาม” นพ.สสจ.สุรินทร์ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการ สธ. ทุกเขตสุขภาพ ในวันที่ 13 มิ.ย. จะมีการนำผลงานดังกล่าวของเขตสุขภาพที่ 9 มานำเสนอในที่ประชุมด้วย แต่ที่อาจจะพัฒนาก่อน คือ การนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ในการติดตามดูแลผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ ที่ทำร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งปัญหาที่ผู้ป่วยมักไม่ค่อยกลับมาติดตามผลการรักษา เนื่องจากติดขัดเรื่องค่าใช้จ่าย




ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น