คนเป็นพ่อแม่แทบทุกคนต้องเคยเผชิญปัญหา “ลูกเถียง” จะต่างกันก็ตรงที่เถียงน้อย เถียงมาก เถียงแหลก เถียงคำไม่ตกฟาก เถียงทันควัน ฯลฯ และมักจบเรื่องการเถียงด้วยอารมณ์เสีย โกรธ โมโห และทะเลาะกันในที่สุด
เด็กที่มีนิสัยชอบเถียงมีหลายสาเหตุที่ทำให้เด็กชอบพูดย้อนผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่มักไม่ชอบพฤติกรรมเหล่านี้ และมักจะตำหนิเด็กเหล่านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งผู้ใหญ่เองก็เป็นตัวการกระตุ้นให้เด็กชอบเถียงด้วยก็เป็นได้
เด็กที่เข้าข่ายลักษณะนี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ผู้ปกครองในการชี้แนะให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองด้วย แต่ก่อนอื่นควรต้องหาสาเหตุของเจ้าจอมเถียงซะก่อน
หนึ่ง - เลียนแบบใครหรือเปล่า ?
กรณีเด็กเล็กอาจซึมซับพฤติกรรมจอมเถียงจากผู้ใหญ่ในบ้าน ทั้งการพูดจา ท่าทาง การใช้โทนเสียง พ่อแม่อาจต้องลองสังเกตดูว่ามีใครในบ้านที่แสดงพฤติกรรมอย่างนั้นออกมาให้เด็กเห็นบ่อย ๆ หรือเปล่า ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นพ่อแม่ แต่อาจเป็นผู้ใหญ่ในบ้าน หรือคนที่เด็กอาจคลุกคลีอยู่ด้วยเป็นประจำ ถ้ามีล่ะก็ควรเริ่มจากการบอกกล่าวให้ผู้นั้นเลิกพฤติกรรมดังกล่าวเสียก่อน เรียกว่าเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
สอง - เรียกร้องความสนใจ
มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าตัวเองขาดรัก และไม่มีใครสนใจพวกเขา รวมถึงพ่อแม่ด้วย ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งเริ่มโตแล้วจึงพร้อมจะโต้เถียงกับทุกคน แต่นั่นอาจเป็นการทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ทั้งหลาย โดยเฉพาะพ่อแม่ เพราะมีเด็กบางคนเกิดการเรียนรู้ว่า การดื้อ หรือการเถียงนั้นสามารถดึงดูดผู้ใหญ่ให้รู้สึกหงุดหงิด หรือให้มาสนใจเขาได้ โดยไม่สนใจว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
สาม - อยากแสดงความเป็นอิสระ ไม่ต้องการถูกควบคุม
กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กก่อนเข้าสู่วัยรุ่นจนถึงกลุ่มวัยรุ่น ที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำถูกที่สุด พ่อแม่ไม่เข้าใจ ก็เลยแสดงพฤติกรรมออกมาด้วยการเถียง บางคนถึงขนาดต้องเถียงทุกเรื่องทั้งที่บางทีก็เห็นด้วย แต่ด้วยความเคยชินก็เลยเถียงไว้ก่อน
สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำ
ประการแรก - ต้องเริ่มจากการตั้งกฎกติกาภายในบ้านว่า “การเถียงพ่อแม่แบบนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” ถ้าไม่เห็นด้วย ต้องพูดกันดี ๆ ในสภาพอารมณ์ปกติ และต้องให้ลูกรู้ว่าการพูดจาลักษณะนี้จะทำให้ลูกไม่ได้รับในสิ่งที่เขาต้องการ เพราะจะไม่มีใครตอบสนองในสิ่งที่ลูกพูด เช่น “ถ้าลูกเถียงแบบนี้แม่จะไม่ฟัง รอให้สงบก่อน แล้วค่อยมาคุยกันดี ๆ”
ประการที่สอง - สอนให้สื่อสารกันดี ๆ และย้ำว่า ถ้าลูกเถียง ซึ่งอาจเลยเถิดถึงขั้นแสดงอาการต่อต้านหรือร้องไห้ ควรรอให้สงบอารมณ์ตัวเองลงก่อน แล้วจึงค่อยสอนให้ลูกเข้าใจจึงวิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง ลูกอาจต้องการเวลาอยู่เงียบ ๆ คนเดียวสักพัก จากนั้นเมื่อลูกพร้อมพ่อแม่ก็ควรเข้าไปโอบกอดแสดงความรัก หรือทำให้ลูกอารมณ์ดีขึ้น แล้วจึงพูดในเรื่องที่ต้องการสื่อสารกัน
ประการที่สาม - แนะให้คิดถึงใจคนอื่น อาจแนะนำวิธีที่ดีในการพูด และชี้ให้เห็นภาพว่าถ้ามีคนมาเถียงลูกแบบนี้ลูกจะคิดอย่างไร ถ้าเราไม่ชอบ ก็อย่าทำกับคนอื่น บางคนฟังแล้วรู้สึกโกรธ หรือเสียใจกับคำพูดของลูกก็ได้ เขาจะไม่อยากฟังลูกพูดอีก พยายามพูดให้เห็นภาพ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูวัยของลูกด้วย เพราะบางทีลูกอาจยังไม่เข้าใจว่าคำพูดจายอกย้อนของเขาจะส่งผลอะไรให้กับใครได้ ดังนั้น คุณอาจต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าวิธีการพูดที่แตกต่างกันจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างไร
ประการที่สี่ - กำหนดบทลงโทษ ถ้าลูกมีพฤติกรรมเถียงซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จำเป็นที่พ่อแม่ต้องตั้งกฎในการลงโทษด้วย โดยให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย เช่น งดกิจกรรมสุดโปรด ตัดค่าขนม ฯลฯ แต่ก็ต้องให้โอกาสลูกได้ขอโทษ และแก้ตัวใหม่ด้วยเช่นกัน
ความจริงการเถียงของลูกก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดีอย่างเดียว มีประโยชน์เหมือนกัน มองด้านดีก็เป็นการฝึกให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ แทนที่จะคิดว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญอย่างเดียว บางทีลูกก็อยากท้าทายอำนาจของพ่อแม่ ก็เป็นการฝึกทักษะอย่างหนึ่งด้วยตัวเอง เพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องพยายามหาทางแทรกซึมให้ลูกแปรเปลี่ยนนิสัยไม่ดีให้กลายเป็นการฝึกทักษะการคิดที่ก่อประโยชน์ได้ด้วย เพียงแต่แทนที่จะเป็นการ “เถียง” ขอให้เป็นการ “ถก” ที่ใช้เหตุใช้ผลและลดอารมณ์ลง
หากสามารถแปรเปลี่ยน “การเถียง” ให้เป็น “การถก” แล้ว นอกจากจะทำให้บรรยากาศในบ้านดีแล้ว ยังเป็นการฝึกลูกให้มีทักษะการคิดและใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาได้อีกด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่