รณรงค์ “คอซอง ขาสั้น กันน็อก” เปิดตัวคู่มือ “เด็กไทย ซ้อนท้าย ใส่หมวก” หวังสร้างจิตสำนึกเด็กเห็นความสำคัญ สวมหมวกกนน็อกเทียบเท่าชุด นร. เตรียมแจกให้ 300 สถานศึกษาใน กทม. เป็นต้นแบบรณรงค์ ศธ. รับลูก พร้อมปรับหลักสูตรการเรียนการสอน
มูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุแห่งเอเชีย ร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็ก เครือข่ายนักปั่น นักบิดและศิลปินชั้นนำของประเทศไทย ร่วมกันจัดงานปฏิบัติการ “คอซอง ขาสั้น กันน็อก” ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร เพื่อเดินหน้ารณรงค์ให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยการสร้างจิตสำนึกว่าการสวมหมวกนิรภัย คือหนึ่งในเครื่องแบบสำคัญที่จำเป็นต้องสวมไปโรงเรียน
โดยภายในงานกิจกรรมมากมายให้เด็ก ๆ ได้ร่วมสนุก เช่น การร่วมแสดงละครเวทีกับคณะละครสื่อสร้างสรรค์ชื่อดังอย่างกลุ่มใบไม้ไหว การร่วมวาดเมืองจำลองพร้อมลวดลายหมวกกันน็อกบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่กับกลุ่มศิลปิน ซึ่งนำโดย ชลิต นาคพะวัน และโรงเรียนสอนศิลปะ Chalit Art Project and Gallery
นางรัตนวดี เหมนิธิ วินเธอร์ ประธานกรรมการ มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย ระบุว่า สืบเนืองจากมูลนิธิป้องกันอุบัติเหตุแห่งเอเชีย ร่วมกับ องค์การช่วยเหลือเด็ก และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำโครงการ “ฮีโร่หมวกกันน็อก” เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตในเด็กนักเรียนในกรณีที่ไม่สวมหมวกนิรภัย โดยมีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมนำร่อง 6 โรงเรียน และจากผลการดำเนินโครงการถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้มากถึง 3 เท่า และในปีนี้จึงได้เตรียมขยายผลไปสู่ 300 โรงเรียน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการ “คอซอง ขาสั้น กันน็อก” โดยจะรณรงค์ให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการสวมหมวกนิรภัยให้เด็ก เสมือนเป็นหนึ่งในเครื่องแบบของชุดนักเรียนที่เด็ก ๆ จะต้องสวมใส่ในทุก ๆ วัน นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดกิจกรรมเพื่ออบรมคุณครูและนักเรียนต้นแบบ ในโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ และ คุณครูเข้าใจถึงความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัยและสามารถนำไปถ่ายทอดต่อในพื้นที่โรงเรียนของตนเองได้และที่สำคัญจะมีการเปิดตัวคู่มือ “เด็กไทย ซ้อนท้าย ใส่หมวก” เพื่อให้ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องการสวมหมวกนิรภัยที่ถูกต้องโดยคู่มือเล่มนี้จะถูกนำไปมอบให้กับ 300 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นสื่อในการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ ต่อไปด้วย
นางรัตนวดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการโครงการของมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จ แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่เราได้จัดทำโครงการและประสบความสำเร็จมาก อาทิ จังหวัดสงขลา และ จังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะในจังหวัดอุดรธานี สามารถเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัยของเด็กนักเรียน จาก 0 ให้กลายเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ได้ ในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือโรงเรียนเอง ควรให้ความสำคัญกับการสวมหมวกนิรภัย เหมือนกับการที่เราเลือกของที่ดีและปลอดภัยที่สุดให้กับลูก
“เรามุ่งเน้นการทำงาน ร่วมกับโรงเรียนและครอบครัว เพื่อให้การสวมหมวกนิรภัยได้รับความสำคัญเทียบเท่ากับเครื่องแบบนักเรียน เนื่องจากการเดินทางจากบ้านไปกลับโรงเรียน คือ เส้นทางหลักสำหรับครอบครัวในแต่ละวัน โดยโครงการนี้ได้ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กกว่า 2,000 คน และปกป้องเด็กจากการบาดเจ็บอีกกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ ภายในปี 2560” นางรัตนวดี กล่าว
ด้าน น.ส.อรุณรัตน์ วัฒนะผลิน ผู้จัดการโครงการความปลอดภัย องค์การช่วยเหลือเด็ก กล่าวว่าสิ่งที่เราต้องการให้เกิดผลมากที่สุดในการจัดโครงการรณรงค์ในครั้งนี้ คือ เราต้องการเห็นเด็กนักเรียนและผู้ปกครองได้ตระหนักถึงความปลอดภัยเมื่อเด็ก ๆ ต้องซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์หรือจักรยาน อยากเห็นทุกครอบครัวหยิบหมวกนิรภัยมาสวมใส่ให้กับเด็ก ๆ เมื่อเขาต้องเริ่มเดินทาง ให้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนการแต่งตัวเหมือนการใส่เครื่องแบบนักเรียนที่ต้องทำเป็นประจำในทุก ๆ วัน ซึ่งที่ผ่านมาองค์การช่วยเหลือเด็กได้ลงไปดำเนินกิจกรรมในพื้นที่โรงเรียนนำร่อง 6 แห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยได้นำกิจกรรมจากคู่มือ “เด็กไทย ซ้อนท้าย ใส่หมวก” ไปถ่ายทอดให้ทั้ง 6 โรงเรียนได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงความสูญเสียทีเกิดอุบัติเหตุ กิจกรรมเปรียบเทียบให้เด็ก ๆ ได้รู้ถึงผลกระทบของการไม่สวมใส่หมวกนิรภัยด้วยการเปรียบสมองของมนุษย์เหมือนไข่ที่แตกง่ายหากเกิดอุบัติเหตุและไม่ได้สวมหมวกนิรภัยป้องกันจะทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะแบบไหนอย่างไร
นอกจากนี้แล้ว เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องขั้นตอนของการสวมหมวกนิรภัยที่ถูกต้อง ผ่านคู่มือ “เด็กไทย ซ้อนท้าย ใส่หมวก” ด้วย คือ 1. การสวมหมวกกันน็อคจะต้องสวมตรง ๆ บนศีรษะ ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่งหรือหงายไปด้านหลัง โดยวัดระยะห่างระหว่างหมวกนิรภัยกับคิ้วจะห่างกันประมาณ 2 นิ้วมือ 2.ปรับระดับสายคาดสำหรับหูให้ตรงกับตำแหน่งหูทั้งสองข้าง 3. คาดล็อกสายรัดคางให้แน่นและปรับให้กระชับพอดีกับคาง
ไม่เลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งหรือหลุดออกจากศีรษะ อีกทั้งยังได้เรียนรู้เรื่องการโดยสารบนรถมอเตอร์ไซค์ที่ปลอดภัย การนั่งซ้อนท้ายอย่างถูกวิธี การดูแลรักษาหมวกนิรภัย การเลือกซื้อหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน ด้วย
ทั้งนี้ รายละเอียดทุกอย่างในคู่มือใช้การถ่ายทอดเป็นภาพวาดการ์ตูนที่เด็ก ๆ เข้าถึงและเข้าใจง่ายด้วย โดยเด็ก ๆ ทุกโรงเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทุกคนได้ตระหนักถึงผลกระทบและเห็นความสำคัญที่จะต้องสวมใส่หมวกนิรภัย และยังเกิดการบอกต่อไปยังผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญอีกด้วย
ด้าน นายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการยินดีที่เกิดโครงการนี้ขึ้นและขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ โดยเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของการพัฒนาเยาวชน เราตระหนักดีว่าที่ผ่านมามีเด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเด็ก 100 คน จะมีเด็ก 1 คนที่เกิดอุบัติเหตุปีละหนึ่งครั้ง แต่หากเราสวมหมวกนิรภัยก็จะสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุได้
“หมวกนิรภัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยดูแลเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตและเป็นกำลังสำคัญของชาติ เพราะอุบัติเกิดขึ้นได้เสมอโดยไม่คาดฝัน ดังนั้น การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และนอกจากการรณรงค์เรื่องการสวมหมวกกันน็อกแล้วเราควรเน้นเรื่องการสร้างจิตสำนึกในการเคารพกฎจราจรด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ จะนำคู่มือ เด็กไทย ซ้อนท้าย ใส่หมวก ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่อไป” รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
ขณะที่นางหทัยรัชฌ์ เปี่ยมวิทย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางจาก ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างมากทั้งต่อตัวนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการเราไม่เคยเห็นถึงปัญหาว่าการไม่สวมหมวกกันน็อกให้กับเด็กจะก่อให้เกิดความสูญเสียมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่หลังจากได้ร่วมโครงการได้ทำกิจกรรมตัวอย่างที่เด็ก ๆ ได้เห็นถึงการเปรียบเทียบระหว่างลูกแตงโมที่สวมหมวกกันน็อกและไม่สวมหมวกกันน็อกว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนอย่างไรเมื่อตกลงพื้น ก็ทำให้เด็ก ๆ เกิดการตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการสวมใส่หมวกกันน็อกในทุกครั้งที่ซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์หรือจักรยาน
และการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับตัวของเด็กที่เขาเกิดความรู้สึกทันทีว่าเมื่อซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ หรือจักรยานเขาจะต้องใส่หมวกกันน็อคให้เหมือนกับการสวมใส่เครื่องแบบที่เขาจะขาดไม่ได้เมื่อต้องแต่งตัวมาโรงเรียน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่