"ลืมเด็กไว้ในรถ" กลายเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นเพราะความ "ขี้ลืม" ของผู้ใหญ่ เรื่องชวนช็อคสะเทือนใจพ่อแม่ที่ฝากลูกน้อยกลอยใจไว้กับรถรับ-ส่ง เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดที่เด็กอนุบาลวัย 3 ขวบต้องมาเสียชีวิตอย่างทรมาน เนื่องจากโดนขังอยู่ในรถ เพราะความสะเพร่าของคนขับ
เหยื่อความสะเพร่าของผู้ใหญ่
"หลังจากที่เด็กๆ ทุกคนลงรถหมด ผมก็ไม่ได้ตรวจสอบภายในรถ จึงขับกลับมาที่บ้านพัก และจอดรถทิ้งไว้กลางแดดตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 07.00 น.จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. ผมจะมานำรถออกไปรับนักเรียน เมื่อเปิดรถก็พบว่าน้องอิงนอนหมดสติอยู่ภายในรถแล้ว จึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือแต่ก็ไม่ทัน และเสียชีวิตในที่สุด" เป็นการให้สัมภาษณ์ของคนขับรถตู้วัย 29 ปีผ่านสื่อ โดยให้การรับสารภาพว่า ลืมเด็กคนหนึ่งไว้ในรถจริง ก่อนจะลงรายละเอียดในวันเกิดเหตุว่า
ตอนเช้าไปรับเด็กนักเรียนจำนวน 13 คนเพื่อไปส่งโรงเรียน แต่แอร์รถดันเสียจึงพาเด็กๆ ไปขึ้นคันใหม่โดยไม่ได้นับจำนวนว่าขึ้นมาครบหรือไม่ พอตกบ่ายไปรับเด็กเพื่อส่งกลับบ้าน ปรากฎว่าเด็กหายไป 1 คน สุดท้ายมาตรวจสอบรถคันที่แอร์เสียก็พบเด็กน้อยผู้น่าสงสารวัย 3 ขวบนอนเสียชีวิตอยู่บนเบาะหลัง
เหตุสลดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คงไม่ต้องบรรยายว่านำความความเศร้าโศกเสียใจให้แก่คนเป็นพ่อแม่ และเพื่อนบ้านมากมายขนาดไหน ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เคยมีข่าวการตายซ้ำๆ ของเด็กจากกรณีเดียวกันให้กระแทกกลางใจพ่อแม่อยู่บ่อยครั้ง แม้บางรายจะสามารถช่วยชีวิตไว้ได้ แต่อีกหลายรายก็ต้องตายอย่างทรมาน เพราะต้องเผชิญกับความร้อนสูงเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมงจนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และหยุดหายใจในที่สุด
ไม่เพียงแต่กรณีคนขับลืมเด็กไว้บนรถแล้ว "ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์" นักวิชาการ และผู้ที่อยู่ในแวดวงคนทำงานด้านการสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ได้เคยยกหยิบยกกรณีคุณพ่อรายหนึ่งขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจที่ห่วงประชุมจนรีบลงจากรถ และวิ่งไปยังห้องประชุมทันที แต่ดันลืมไปสนิทเลยว่า ยังมีเด็กหญิงวัย 3 ขวบซึ่งเป็นลูกสาวของเพื่อนบ้าน นอนหลับอยู่ในรถบริเวณพื้นหน้าเบาะหลัง ซึ่งกว่าจะรู้ก็ตอนเวลาเลิกประชุมช่วงบ่ายแก่ๆ เมื่อพบว่าลูกสาวของเพื่อนบ้านนอนเสียชีวิตอยู่ในรถ
เตือน! อย่าทิ้งลูกไว้ในรถ
นอกจากปัญหา "ลืมเด็กไว้ในรถ" ที่ต้องตระหนักแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่คนเป็นพ่อแม่ต้องอ่านถ้าไม่อยากหัวใจสลายก็คือ "อย่าทิ้งลูกไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง" แม้จะออกไปทำธุระเพียงไม่กี่วินาทีก็ตาม โดยเรื่องนี้เตือนกันมาหลายครั้งหลายครา แต่ก็มองข้ามจนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำๆ ซากๆ
ความน่าเป็นห่วงนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยให้สัมภาษณ์กรณีเด็กติดอยู่ในรถแล้วเสียชีวิตว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า เด็กตายเป็นเพราะขาดอากาศหายใจ เนื่องจากประตูหน้าต่างปิดสนิท แต่ความจริงแล้วเป็นเพราะความร้อนภายในรถยนต์ที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 นาทีอุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถอยู่ได้ หากอยู่ในรถผ่านไป 10 นาที ร่างกายจะแย่และภายใน 30 นาทีถึงขั้นเสียชีวิต
"ปกติร่างกายจะรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่เมื่อติดอยู่ในรถที่ความร้อนสูงขึ้น ช่วงแรกร่างกายจะขับความร้อนออกมาในรูปแบบของเหงื่อ แต่เมื่อถึงจุดที่ร่างกายทนไม่ไหว ร่างกายก็จะหยุดทำงาน เกิดภาวะเลือดเป็นกรด หยุดหายใจ และอวัยวะทุกอย่างหยุดทำงาน หากเจอเด็กที่ติดในรถเร็วจะพบในสภาพตัวแดง แต่หากนานแล้วเด็กจะตัวซีด และเสียชีวิต" รศ.นพ.อดิศักดิ์ขยายความ
ดังนั้น จึงขอเตือนว่า พ่อแม่ห้ามทิ้งลูกไว้ในรถที่จอดกลางแจ้งเด็ดขาด ไม่ว่าจะต้องลงไปธุระนอกรถเร็วหรือช้า แต่ควรนำเด็กลงจากรถไปด้วยทุกครั้ง และไม่ควรเปิดแง้มหน้าต่างไว้แล้วปล่อยให้เด็กอยู่ภายใน เพราะอาจเข้าใจว่าเด็กไม่ขาดอากาศหายใจแล้วจะปลอดภัย แต่ความจริงแล้วเด็กตายเพราะความร้อนสูง ซึ่งการเปิดแง้มหน้าต่างทิ้งไว้ไม่ได้รับประกันว่าความร้อนภายในรถจะไม่สูงขึ้นและช่วยให้เด็กปลอดภัย
ส่วนการจอดรถในที่ร่มก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน เพราะเด็กอาจจะเสียชีวิตจากความร้อนที่สูงขึ้นได้ แต่อาจใช้เวลานานกว่าที่จอดกลางแจ้ง
"รถรับส่ง" ไว้ใจได้แค่ไหน?
แน่นอนว่า ปัญหาเด็กถูกลืมไว้ในรถรับ-ส่งนักเรียน นำไปสู่การทวงถามถึงความจริงจังในการจัดฝึกอบรมพนักงานขับรถและผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งตามหลักแล้ว ผู้ที่จะประกอบอาชีพเดินรถรับ-ส่งนักเรียนนั้นจะต้องมีใบอนุญาตจากทางราชการ นอกจากนั้นตัวรถต้องมีความมั่นคงแข็งแรง มีอุปกรณ์ดับเพลิง และอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จําเป็นหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น โดยในประเทศไทยเองก็มีหลายโรงเรียนที่เห็นความสําคัญกับเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันก็มีจำนวนไม่น้อยที่มองข้าม และไม่ค่อยให้ความใส่ใจจนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่เป็นข่าว
สําหรับปัญหาการฝ่าฝืนใช้รถรับ-ส่งนักเรียนไม่ถูกต้องที่พบเห็นบ่อยๆ มีข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า การดัดแปลงที่นั่ง เช่น รถรับ-ส่งนักเรียนส่วนใหญ่จะใช้รถตู้ซึ่งกําหนดนั่งได้ไม่เกิน 15 ที่นั่ง แต่รถตู้หลายรายในต่างจังหวัด จะบรรทุกนักเรียนถึง 20-30 ราย โดยจะถอดเบาะออกแล้วนําที่นั่งยาวแบบรถ 2 แถวมาใส่แทน ซึ่งอันตรายมาก เพราะแค่เบรกแรงๆ เด็กอาจถูกแรงเหวี่ยงมารวมกันแล้ว อีกทั้งการดัดแปลงที่นั่งดังกล่าว ยังมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทด้วย
ปัจจุบันมีรถรับ-ส่งนักเรียนที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมีอยู่ 2 ประเภท คือ รถโดยสารประจําทางขนาดใหญ่ (สีเหลือง คาดดํา) จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และรถตู้โดยสารที่จดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
ทั้งนี้ การออกกฎกระทรวงว่าด้วย "รถโรงเรียน" ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กำหนดให้รถโรงเรียนต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้มสะท้อนแสง มีข้อความ "รถโรงเรียน" เป็นตัวอักษรสีดำติดอยู่ด้านหน้า และด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน สีของตัวรถต้องมีสีเหลืองคาดดำ พร้อมมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก เหล็กชะแลง
นอกจากนั้น ผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี รวมทั้งต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของเด็กนักเรียนที่ใช้บริการรถโรงเรียน
ส่วนการออกกฎกระทรวงว่าด้วย "รถรับ-ส่งนักเรียน" ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ได้มีการอนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียน แต่ต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยจะอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษา แต่ปัจจุบันยังมีเจ้าของรถรับส่งนักเรียนบางส่วนฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว
สุดท้ายนี้ ทีมข่าวผู้จัดการ Live ขออนุญาตหยิบยกข้อแนวทางความปลอดภัยระบบรถรับ-ส่งนักเรียนที่เป็นการศึกษา วิเคราะห์จากศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังนี้
1. ผู้ดำเนินการรถโรงเรียนต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในการรับ-ส่งนักเรียน จัดหารถที่ได้มาตรฐาน คัดเลือกพนักงานขับรถ และพนักงานประจำรถที่มีคุณภาพ
2. ผู้ควบคุมดูแลนักเรียนต้องประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาที่รับ-ส่งนักเรียน
3. การเช็กรายชื่อนักเรียนทั้งก่อนขึ้นรถ และเมื่อลงจากรถ เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการหลงลืมเด็กไว้ในรถ
4. ผู้ควบคุมดูแลนักเรียน และคนขับรถโรงเรียน ควรผ่านการฝึกอบรมทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยเหลือชีวิตนักเรียนในสภาวะขับขันได้อย่างเหมาะสม
ในส่วนของพ่อแม่ ผู้ปกครองนั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติ และสอนเด็กตั้งแน่เนิ่นๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถรับ-ส่ง หรือรถโรงเรียน มีแนวทาง ดังนี้
1. เดินไปส่งลูกที่รถด้วยตัวเอง และรอจนมั่นใจว่า ลูกได้นั่งในรถเรียบร้อยแล้ว
2. สอนให้เด็กนั่งประจำที่ และคาดเข็มขัดนิรภัยจนกว่ารถจะถึงโรงเรียน
3. สอนให้เด็กอย่าส่งเสียงดัง หรือขว้างปาสิ่งของขณะอยู่ในรถ เพื่อไม่ให้คนขับรถเสียสมาธิ
4. ระหว่างเดินทางถ้ามีของหล่น อย่าพยายามลุกหรือก้มเก็บเอง แต่สอนให้เด็กแจ้งผู้ดูแลนักเรียนให้ช่วยเก็บให้
5. ต้องให้รถจอดสนิทก่อนจึงก้าวลงจากรถ และเมื่อถึงพื้นแล้วให้เดินห่างจากตัวรถ ไม่ยืนรอขวางหน้ารถ และไม่ยืนอยู่ท้ายรถ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
แม้ว่าการเสียชีวิตของเด็กที่เกี่ยวข้องกับรถรับ-ส่ง หรือรถโรงเรียนจะเกิดขึ้นไม่บ่อยเมื่อเทียบสาเหตุการเสียชีวิตอื่นๆ แต่เหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นจากการลืมเด็กไว้ในรถก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก และเป็นเรื่องที่จะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป เพราะความหลงลืมเพียงครั้งเดียว อาจเสียใจไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องใจสลายเมื่อลูกน้อยต้องมาตายอย่างทรมาน เพราะความ "สะเพร่า" และความ "ขี้หลงขี้ลืม" ของผู้ใหญ่บางคน
ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก "CSIP อย่าลืมเด็กไว้ในรถ"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754