สช. แจงไร้อำนาจจัดการ “ติวเตอร์เถื่อน” พัวพันแก๊งโกงสอบ ม.รังสิต หลังไม่พบข้อมูลในระบบ เผยแจ้ง สภ.ปากคลองรังสิต ดำเนินการต่อ รับ กม. มีช่องโหว่ให้ดูแล ร.ร.กวดวิชาสอน 7 คนขึ้นไป เล็งแก้กฎหมายขอดูแลกวดวิชาต่ำกว่า 7 คน
จากกรณีมหาวิทยาลัยรังสิต จับผู้กระทำความผิดทุจริต 5 ราย ในการสอบตรงเข้าวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต ระหว่างวันที่ 7 - 8 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีหลักฐานเป็นอุปกรณ์ไฮเทค ทั้งแว่นตาติดกล้องวงจรปิด และสมาร์ทวอตช์ โดยผู้ทุจริตรายหนึ่งสารภาพว่า ได้ติดต่อสถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่งแถว ม.รังสิต เพื่อให้ช่วยทุจริตสอบ เป็นเงิน 50,000 บาท และจะจ่ายอีก 800,000 บาท เมื่อสอบติด
วันนี้ (10 พ.ค.) นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวถึงกรณีผู้ทำการทุจริตสอบตรงเข้าวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สารภาพว่าได้รับการติดต่อจากสถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ ม.รังสิต ว่า จากการตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลสถาบัน/โรงเรียนกวดวิชา ที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ทั่วประเทศ จำนวน 2,626 แห่ง ไม่พบว่ามีข้อมูลใดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกวดวิชาที่ถูกอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบของ ม.รังสิต จึงอาจเป็นไปได้ว่าสถาบันกวดวิชาไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายและใช้วิธีการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งหากไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง สช. จึงไม่มีอำนาจที่จะไปดำเนินการอะไรได้ แต่ได้ประสานไปยัง สภ.ปากคลองรังสิต แล้วว่า สถาบันดังกล่าวไม่มีการขอจดทะเบียนโรงเรียนกวดวิชาตามกฎหมาย เป็นสถาบันกวดวิชาเถื่อน ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนคนอื่นๆตกเป็นเหยื่อ สำหรับชื่อของสถาบันกวดวิชาที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าวนั้นขอให้เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้เปิดเผยจะเหมาะสมกว่า
"ถ้าเป็นโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดสอนตั้งแต่ 7 คนขึ้นไปและมีการจดทะเบียนถูกกฎหมาย สช.จะมีอำนาจเต็มที่ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ตรวจสอบพบว่ามีสถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่งโฆษณาเกินความเป็นจริง สช. ก็เข้าไปดำเนินการเปรียบเทียบปรับและสั่งให้ยกเลิกการโฆษณาดังกล่าว แต่ถ้าเป็นการกวดวิชาแค่ 3 คน 5 คน หรือใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการติวนั้น ตรงนี้เราไม่มีอำนาจและการควบคุมดูแลทำได้ยาก เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ แต่ในความเห็นของ สช. คือ เราควรต้องดูแลคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะต้องมีการหารือเพื่อปรับแก้ไขกฎหมายเปิดช่องให้ สช. มีอำนาจเข้าไปดูแลการกวดวิชาในกลุ่มที่ต่ำกว่า 7 คนได้” นายอดินันท์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่