xs
xsm
sm
md
lg

ต้นทุนเด็ก ม.ปลาย ชีวิตนี้จะสอบมากไปไหน !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย” โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการ สสค. ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและสะท้อนเสียงของเด็กมัธยมปลาย ว่า “เหนื่อย เรียนหนัก จะสอบมากไปไหน” ซึ่งมีหลายประเด็นที่ตัวเลขสะท้อนปัญหาได้อย่างน่าสนใจ
แต่ดิฉันจะขอหยิบยกเฉพาะประเด็นเรื่องการสอบที่มากเกินไปมาสะท้อนให้เห็นว่ากว่าเด็กคนหนึ่งจะเรียนจนเข้าสู่มหาวิทยาลัย ต้องสอบอะไรกันบ้าง
มันมากเกินไปไหม ?
และแน่นอนเมื่อการสอบมีมากเกินไป นั่นก็หมายความว่า ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกมากมาย ทั้งค่าสมัครสอบ ค่าเรียนพิเศษ ค่าเดินทางเพื่อไปสอบ อย่าลืมว่ามีเด็กต่างจังหวัดจำนวนมากที่อยู่จังหวัดหนึ่ง แต่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปสอบ
แล้วภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ใครล่ะ ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ผู้ปกครอง !
เอาเฉพาะเด็กมัธยมปลายที่ต้องสอบเข้าอุดมศึกษาในปัจจุบัน เฉลี่ยต้องสอบราว ๆ 6 - 7 สนาม ได้แก่ การสอบวัดผลของโรงเรียน, การสอบ O-NET, การสอบ GAT/PAT, การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา, การสอบโควตาของมหาวิทยาลัย, สอบตรงของมหาวิทยาลัย, สอบแอดมิชชัน
นี่ไม่ได้นับการสอบก่อนหน้าที่เด็กจะมาอยู่ระดับมัธยมปลายด้วยนะ
ตัวเลขผลสำรวจที่อาจารย์สมพงษ์เปิดเผย พบว่า ต้นทุนทางการศึกษาตลอดชั้น ม.ปลาย เฉลี่ยคนละ 61,199 บาท คิดเป็น 6% ของรายได้ในครัวเรือน ประกอบด้วย รายจ่ายในโรงเรียน (ค่าเทอม/ค่ารถ/ค่าอาหารกลางวัน) 17,823 บาท รายจ่ายในการเรียนพิเศษ (ค่าเรียนพิเศษ/ค่ารถ/ค่าที่พัก) 22,592 บาท รายจ่ายในการสมัครสอบ (ค่าสมัครสอบ/ค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิ์/ค่ารถ/ที่พัก) 20,040 บาท
นอกจากนี้ยังพบค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 10,610 บาท โดยพบว่ามีการจ่ายเงินค่ามัดจำสูงถึง 91,000 บาท
ขณะที่ความพร้อมของผู้ปกครองในเรื่องค่าใช้จ่าย พบว่า ไม่ว่าผู้ปกครองจะอยู่ในฐานะใดก็พร้อมจะสนับสนุนเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนต่ออุดมศึกษา แม้ว่าจะต้องไปกู้เงินหรือไม่ก็ตาม โดยพบสัดส่วนการกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาในครัวเรือนยากจน 52% ฐานะปานกลาง 27% และค่อนข้างมีฐานะ 19%
พูดง่าย ๆ ก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองยอมเป็นหนี้ แต่ขอให้ลูกได้สอบ ได้เรียนพิเศษเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยให้ได้ละกัน
ในวันแถลงข่าวที่มีการเปิดเผยข้อมูล มีเยาวชน 4 คน ที่เรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย มาจากต่างจังหวัดได้พูดถึงประสบการณ์ตรงของตัวเอง
นายอิทธิพล ฉิมงาม หรือ “เอ็ม” นักเรียนชั้น ม.6 จาก จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พ่อทำงานโรงงานมีรายได้ประจำ แต่เพราะต้องหารายได้เพิ่มเติมเพื่อลูก จึงได้ไปขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พร้อมทั้งสะท้อนว่าบ้านเรามีการสอบที่มากเกินไป ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวมาก
สอดคล้องกับเพื่อน ๆ ตัวแทนจากต่างจังหวัดอีก 3 คน คือ นายพงศธร นามพิลา หรือ “โดนัท” จากจังหวัดบึงกาฬ ที่บอกว่า ที่จังหวัดบึงกาฬไม่มีสถาบันกวดวิชา ถ้าเด็กอยากเรียนพิเศษต้องไปเรียนในจังหวัดอื่นที่ใกล้เคียง นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาอีก ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าอาหารการกิน ฯลฯ
ส่วน นายวิทยา สอนเสนา หรือ “อั้น” จากเชียงราย ก็ต้องเผชิญกับการตระเวนสอบหลายต่อหลายแห่ง ใช้เงินไปจำนวนมาก แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีที่เรียน และคงต้องตระเวนสอบต่อไป โชคดีที่พ่อแม่เข้าใจและพร้อมสนับสนุน
คนสุดท้ายคือ นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ หรือ “อั๊พ” ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กทม. มีเป้าหมายชัดเจนในชีวิตที่ไม่ต้องการเดินสายตระเวนสอบเหมือนคนอื่น แต่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเปิด และชี้ให้เห็นว่าถ้าเด็กที่เรียนแล้วค้นพบตัวเองว่าชอบอะไร ถนัดอะไร ก็จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไปได้ เพราะจะมีจุดมุ่งหมายในการสอบ ไม่หว่านไปหมด
เยาวชนทั้ง 4 คน ส่งเสียงสะท้อนตรงกันต่อภาครัฐและผู้ใหญ่ในสังคม สอดคล้องกับผลสำรวจ คือ ขอให้ลดจำนวนการสอบลง และโรงเรียนควรสอนในสิ่งที่สอบในมหาวิทยาลัย รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพของครูผู้สอนเพื่อลดการกวดวิชา
จะไม่ให้เหนื่อยแทนเด็กยุคนี้ได้อย่างไร
แล้วไหนใครบอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ตัวเลขที่เห็นและเป็นอยู่ด้วยแนวโน้มทางการศึกษาในยุคปัจจุบัน ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก
ปัญหาใหญ่สุดก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำไมระบบการศึกษาในบ้านเรา นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้เรื่องวิชาการได้เพียงพอภายในห้องเรียน..!!
ในยุคสมัยของตัวเอง จำได้ว่ามีสอบเอนทรานซ์อย่างเดียว เด็กก็มึนตึ๊บ เก็บตัวอ่านหนังสือกันเป็นปี แต่พอมีการปฏิรูปการศึกษา และมีการจัดตั้งสารพัดหน่วยงานทางการศึกษาเกิดขึ้นมากมาย ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับสากล กลับกลายเป็นว่าเด็กๆ มีแต่สอบเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
อ้อ..แต่ที่สอบเพิ่มมากขึ้น อันดับการศึกษาบ้านเรากลับติดอยู่ในจำพวกรั้งท้ายซะงั้น !!
กำลังโหลดความคิดเห็น