ประกาศใช้กฎกระทรวงฯ กําหนดอัตราค่าจ้าง “มอเตอร์ไซค์รับจ้างทั่วประเทศ” ฉบับใหม่ ระบุ 2 กิโลเมตรแรก เก็บไม่เกิน 25 บาท กิโลเมตรต่อไปไม่เกินกิโลเมตรละ 5 บาท ค่ารถเกินกว่า 5 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 15 กิโลเมตร เก็บได้ไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท ส่วนระยะทางเกินกว่า 15 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เป็นไปตกลงกัน ส่วนอีกฉบับกำหนดค่าธรรมเนียมออกรถยนต์ใหม่
วันนี้ (24 มี.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงของกระทรวงคมนาคม 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2559 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 (17) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
“ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๒ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๘/๑) และ (๘/๒) ของข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๖
“(๘/๑) เครื่องหมายแสดงการใช้รถ ตามมาตรา ๖/๑ วรรคสองหรือวรรคสาม (ก) รถยนต์ แผ่นละ ๕๐๐ บาท (ข) รถจักรยานยนต์ แผ่นละ ๒๐๐ บาท
(๘/๒) การอนุญาตให้ใช้รถตามมาตรา ๖/๑ วรรคสาม (ก) รถที่มีผู้นําเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ ในกิจการใดโดยเฉพาะเป็นการชั่วคราว ๑) กรณีเพื่อการท่องเที่ยว ครั้งละ ๕๐๐ บาท ๒) กรณีอื่นนอกจาก ๑) ครั้งละ ๒,๐๐๐ บาท (ข) รถที่ใช้เพื่อการทดสอบ ๑) รถทดสอบก่อนผลิต รถยนต์ ครั้งละ ๒,๐๐๐ บาท รถจักรยานยนต์ ครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท ๒) รถทดสอบคุณภาพ รถยนต์ ครั้งละ ๕,๐๐๐ บาท”
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (๑๕) และ (๑๖) ของข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๑๕) ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ฉบับละ ๒๐๐ บาท (๑๖) ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว ฉบับละ ๑๐๐ บาท”
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความใน (๑๗) ของข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๑๗) ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ฉบับละ ๑๐๐ บาท”
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ออมสิน ชีวะพฤกษ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม”
“ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้กําหนดให้การใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในบางกรณีจะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนและเสียค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการใช้รถดังกล่าวประกอบกับได้มีการแก้ไขอายุใบอนุญาตขับรถชั่วคราวเป็นสองปี สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อกําหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนและปรับปรุงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถชั่วคราวดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
อีกฉบับ เป็นกฎกระทรวงกําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๙ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ (๑๔) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๔๗ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะพ.ศ. ๒๕๔๘
ข้อ ๒ อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้กําหนดดังต่อไปนี้
(๑) ระยะทาง ๒ กิโลเมตรแรก ต้องไม่เกิน ๒๕ บาท และกิโลเมตรต่อ ๆ ไป แต่ไม่เกิน๕ กิโลเมตร ต้องไม่เกินกิโลเมตรละ ๕ บาท
(๒) ระยะทางเกินกว่า ๕ กิโลเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน ๑๕ กิโลเมตร ตั้งแต่กิโลเมตรแรกจนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ ๑๐ บาท
(๓) ระยะทางเกินกว่า ๑๕ กิโลเมตรขึ้นไป ให้เป็นไปตามที่ผู้ขับรถและคนโดยสารตกลงกันก่อนทําการรับจ้าง หากไม่ตกลงกันก่อนทําการรับจ้าง อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรแรกจนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ ๑๐ บาท
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
ออมสิน ชีวะพฤกษ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม”
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะตามกฎกระทรวงกําหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2548 ยังขาดความเหมาะสมและเป็นธรรมในบางกรณี สมควรปรับปรุงอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสําหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะเพื่อให้มีความเหมาะสมกับระยะทางที่ใช้รับจ้างและเป็นธรรมแก่ผู้โดยสารยิ่งขึ้นจึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้