xs
xsm
sm
md
lg

Grab Bike ปะทะ Uber Moto ใครน่าสนใจกว่ากัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม้เรื่องราวกับทางกรมขนส่งจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ทั้ง 2 ผู้ให้บริการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Grab ที่มีบริการ Grab Bike และ Uber ที่มีบริการ UberMOTO ต่างออกโปรโมชันมาขับเคี่ยวกันจนเรียกได้ว่าแทบจะให้คนใช้ได้นั่งฟรี แลกกับประสบการณ์ใช้งานครั้งแรกที่ดี จนเกิดพฤติกรรมให้ใช้งานต่อเนื่องกันไป

จุดเริ่มต้นของทั้ง Grab Bike จริงๆ เริ่มต้นขึ้นมาจากบริการรับส่งของที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่คนขับมอเตอร์ไซค์ ก่อนจะเริ่มหันมาให้บริการรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หลังจากที่ในกรุงเทพฯ เกิดเหตุการณ์หลายๆ ครั้งที่มอเตอร์ไซค์วินมีการเรียกเก็บค่าบริการผู้ใช้แบบ “ฟันหัวแบะ” จากค่าโดยสารที่ไม่มีมาตรฐานในช่วงเวลาเร่งด่วน แม้ว่าทางภาครัฐจะมีมาตรการของมาป้องกัน แต่ที่สุดแล้วก็ยังมีการเก็บค่าโดยสารเกินราคาอยู่เช่นเดิม

ขณะที่ UberMOTO ก็มองเห็นถึงสภาพจราจรในตัวเมืองที่หนาแน่น ทำให้ผู้ใช้งานที่ต้องการความรวดเร็ว หันมาใช้งานรถมอเตอร์ไซค์เป็นทางเลือกในชั่วโมงเร่งด่วน ที่ต้องการไปถึงจุดหมายให้ทันเวลา จนเริ่มเปิดให้บริการ UberMOTO ขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ทั้ง 2 บริการต่างมีข้อเหมือนกันตรงที่เป็นบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เพียงแต่ Grab จะแสดงค่าบริการที่ชัดเจนตั้งแต่กดเรียก ส่วนทาง Uber จะแสดงราคาเมื่อถึงที่หมาย โดยค่าบริการของ Grab จะคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 10 บาท รวมกับค่าบริการต่อกิโลเมตรที่ 5 บาทต่อกิโลเมตร ในขณะที่ Uber จะเริ่มคิดค่าบริการที่ 10 บาท รวมกับค่าบริการต่อกิโลเมตรที่ 3.5 บาทต่อกิโลเมตร และเวลาเดินทาง 85 สตางค์ต่อนาที

ดังนั้น เมื่อมองแล้วในการนั่งรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะใกล้ๆ แต่อาจจะต้องเจอสภาพการจราจรที่หนาแน่น ทำให้เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายแล้วทั้ง 2 รายแทบไม่ต่างกัน เพียงแต่ของ Grab จะไม่ต้องเสียเพิ่มกรณีที่ติดอยู่บนถนนนานๆ ในขณะที่ Uber ถ้ารถไม่ติดก็จะได้ค่าเฉลี่ยต่อระยะทางที่ถูกกว่า

แต่แน่นอนว่า กรณีที่ใช้เดินทางระยะ 10-15 กิโลเมตร Grab จะคิดค่าบริการคงที่ 60-85 บาท (ค่าเรียก 10 บาท ระยะทาง 10-15 กิโลเมตร 50-75 บาท) ขณะที่ Uber จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาโดยสาร 62-88 บาท (ค่าเรียก 10 บาท ระยะทาง 10 กิโลเมตร 35-52.5 บาท เวลา 20-30 นาที 17-25.5 บาท) ดังนั้น ถ้าเป็นการโดยสารในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น Grab จะถูกกว่า Uber ค่อนข้างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การที่ Grab Bike เปิดให้บริการมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงเปิดโอกาสให้วินมอเตอร์ไซค์สามารถสมัครเข้ามาเป็นพนักงานขับได้ ทำให้จุดแข็งที่สุดของ Grab Bike คือ ปริมาณรถที่มากกว่าครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ ในขณะที่ UberMOTO ที่เพิ่งเปิดให้บริการในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะเน้นพื้นที่ธุรกิจ 3ส อย่างสีลม สยาม และสาทร เป็นหลัก

เรื่องที่สืบเนื่องมาจากปริมาณคนขับคงหนีไม่พ้นระยะเวลาในการรอเรียกใช้บริการ เมื่อมีปริมาณรถในระบบมากกว่า ทำให้ในจุดนี้ Grab จึงค่อนข้างได้เปรียบ Uber ที่เพิ่งเริ่มให้บริการ แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูกันไปยาวๆ ว่า รายใดจะสามารถเพิ่มพนักงานขับรถเข้ามาเสริมในแต่ละพื้นที่ที่มีการเรียกใช้งานบ่อยๆ ได้มากกว่ากัน

ขณะที่ในแง่ของความปลอดภัยในการใช้บริการ ทั้ง 2 รายต่างมีระบบสกรีนประวัติพนักงานขับ พร้อมระบบบันทึกพิกัด และสถานที่รับงานต่างๆ แบบเรียลไทม์ ทำให้ในส่วนของความปลอดภัยทั้ง 2 รายแทบไม่แตกต่างกัน แต่เนื่องจาก Grab มีบริการรับส่งของด้วย จึงมีการเพิ่มในส่วนของค่าประกันสินค้า

อีกจุดที่แตกต่างกัน คือ Grab จะมีประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติมให้แก่คนขับวงเงิน 3 แสนบาท และผู้โดยสารวงเงิน 3 แสนบาท รวมเป็น 6 แสนบาท ทำให้ในจุดนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ กรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากการโดยสารก็จะมาช่วยคุ้มครองทั้งพนักงานขับรถ และผู้โดยสารทันที ทำให้ถือว่าค่อนข้างตอบโจทย์ในเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนน เพราะจากสถิติมีผู้ขับขี่เพียง 52% เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อก และผู้โดยสาร 20% เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อก

หลังจากนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า เมื่อ Grab ทำแล้วในเรื่องของประกันอุบัติเหตุ Uber จะตามเกมนี้หรือไม่ เพราะถือเป็นการแข่งขันในตลาดที่มีความดุเดือดเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อดูถึงการสื่อสารโปรโมชันไปยังผู้บริโภคแล้ว Grab จะเน้นการนำเรียลไทม์มาเกตติ้งอย่างสม่ำเสมอ อย่างกรณีที่มีรถไฟฟ้าเสีย ก็จะออกรหัสโปรโมชันส่วนลดให้ลูกค้าได้ใช้งานกัน ช่วยให้การเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น

Company Relate Link :
Grab
Uber
กำลังโหลดความคิดเห็น