xs
xsm
sm
md
lg

เข้มระบบบำบัดน้ำเสีย “รพ.-โรงงาน” ก่อนปล่อยสิ่งแวดล้อม ปันช่วยเกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.โสภณ เมฆธน
สธ. เผย รพ. ใช้น้ำ 800 ลิตร ดูแลผู้ป่วย 1 เตียง สั่งทุก รพ. เข้มพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยคืนสู่สิ่งแวดล้อม นำมาใช้ประโยชน์ ช่วยประหยัดทรัพยากรบรรเทาภัยแล้ง เล็งพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย รพ. 30 เตียง รองรับการบริการเพิ่มขึ้น ด้านกรมโรงงานฯ จัดทีมตรวจสอบมลพิษระยะไกล วัดคุณภาพน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกนอกโรงงาน ปันน้ำทิ้งช่วยเหลือภาคเกษตรกร

วันนี้ (28 เม.ย.) ที่โรงพยาบาลสตูล นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประหยัดทรัพยากรน้ำเพื่อช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ในแต่ละวันโรงพยาบาลมีการใช้น้ำจำนวนมาก ทั้งในการบริการผู้ป่วย ซักล้าง ทำความสะอาด คาดประมาณว่า ปริมาณการใช้น้ำของโรงพยาบาลต่อผู้รับบริการ 1 เตียง อยู่ที่ประมาณ 800 ลิตร และโรงพยาบาลจะทำการบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้น ให้ปลอดจากสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนรวมถึงเชื้อโรค ก่อนที่จะปล่อยคืนสู่สิ่งแวดล้อม จึงกำชับให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ. ทุกแห่ง เข้มงวดการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ มีการตรวจเช็กคุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดทุก 3 เดือน นอกจากนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งได้นำน้ำที่ผ่านระบบการบำบัดมาใช้ประโยชน์ อาทิ ใช้รดน้ำต้นไม้ และสนามหญ้า ทำให้ประหยัดและลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้

“การพัฒนาระบบบริการรักษาสุขภาพประชาชนนั้น ต้องส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาลด้วย ทั้งขยะและน้ำเสียจากการบริการประชาชนต้องมีระบบบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยในปี 2560 - 2565 สธ. มีแผนในการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียในโรงพยาบาลที่มีขนาดตั้งแต่ 30 เตียงขึ้นไป ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัด สธ. มีระบบบำบัดน้ำเสีย 884 แห่ง เหลืออีก 4 แห่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตั้งใหม่” ปลัด สธ. กล่าว

ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมฯ ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปันน้ำทิ้งจากโรงงานช่วยเหลือภาคเกษตรกร และระบายน้ำช่วยชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมประเภทที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารที่ปล่อยน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และติดตั้งอุปกรณ์พารามิเตอร์ที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (Online pollution monitoring system : OPMS) ของกรมโรงงานฯ โดยคาดว่า ปริมาณน้ำจากโรงงานที่จะปล่อยสู่ภาคการเกษตรจะมีปริมาณเกือบ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้  กรมโรงงานฯ ยังประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ โรงงานอุตสาหกรรม นำหลัก 3R มาใช้ เช่น การใช้น้ำซ้ำ การใช้น้ำหมุนเวียนในโรงงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง

ดร.พสุ กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม (Industrial Environment Monitoring Center : IEMC) ณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพน้ำผ่านระบบออนไลน์  OPMS ซึ่งระบบจะตรวจวัดคุณภาพน้ำที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน และจะมีการรายงานผลทุก ๆ 30 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะตรวจวัดค่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระบบบำบัดน้ำ ค่าปริมาณการปล่อยทิ้งของน้ำต่อวัน และค่าปริมาณความสกปรกของน้ำที่ปล่อยทิ้ง (BOD/COD) โดยค่าดังกล่าวต้องมีค่ามาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด มีค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (BOD) ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ในโรงงานทั่วไปและโรงงานที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถระบายได้ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าความสกปรกในรูปสารอนินทรีย์ (COD) ไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อลิตรในโรงงานทั่วไปและโรงงานที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถระบายได้ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อลิตร หากพบค่ามลพิษเข้าใกล้หรือเกินมาตรฐานระบบจะส่งสัญญาณเตือนทันที หลังจากนั้น กรมโรงงานฯ จะแจ้งเตือนไปยังโรงงาน พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบทันที
ดร.พสุ โลหารชุน


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น