สธ.โต้ข่าวห้ามทุกบ้านใช้ส้วมซึม ชี้ พ.ร.ฎ.แค่กำหนดมาตรฐานโถส้วมนั่งราบเซรามิก หวังคนไทยได้ใช้ส้วมมีมาตรฐานตามแผนแม่บททุกครัวเรือนใช้ส้วมนั่งราบ 90% สถานที่สาธารณะมีส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์แพร่ข้อมูลพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2556 โดยระบุว่า ให้ทุกครัวเรือนต้องเปลี่ยนจากส้วมซึมนั่งยอง เป็นโถส้วมนั่งราบ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าห้ามมีการใช้ส้วมซึมอีกต่อไป ว่า พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ได้ห้ามใช้ส้วมซึม แต่เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 พ.ศ.2556-2559 คือ ภายในปี 2559 ให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบร้อยละ 90 สถานบริการสาธารณะ และสถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่เท่านั้น
ทั้งนี้ มาตรา 3 ของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ระบุว่า ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792-2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ.2554) โดยมีหมายเหตุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอนามัยของประชาชนได้หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน
“เป้าหมายคือ ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมาย คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ของส้วมในที่สาธารณะ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบก และทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะ ริมทาง และห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่