จิตแพทย์ชี้ “โรคโกหกตัวเอง” ไม่มีในสารบบ เป็นอาการไม่พอใจในตัวเอง ห่วงกลุ่มสุดโต่งโกหกตัวเอง โกหกคนอื่นจนลืมความเป็นจริง เสี่ยงเป็นคนหลายบุคลิก เข้าข่ายโรคทางจิต แนะยอมรับในตัวตน
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีอาการโกหกตัวเอง ว่า ในกรณีอาการที่เข้าทั่วไปเข้าใจว่าเป็น โรคโกหกตัวเอง หรือ โรคหลอกตัวเอง ที่แท้จริงแล้วทางการแพทย์ไม่มีชื่อโรคดังกล่าวระบุไว้ในสารบบ เพียงแต่เป็นภาวะของคนที่มีข้อจำกัดทางจิตใจ มีความคิดที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อตัวเองและผู้อื่น มีสองอย่างคือ คนที่มีจินตนาการถึงสิ่งนั้น สิ่งนี้ที่ตนเองปรารถนา แต่ยังรู้ถึงความเป็นจริงว่าตนเองเป็นใคร ความจริงคืออะไร อีกแบบคือ คนที่มีจิตนาการถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยในขณะที่มีจินตนาการอยู่นั้นก็ลืมความจริงไปเลยว่า ตนเองเป็นใคร เป็นอย่างไร
พญ.อัมพร กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการคิดการจินตนาการถึงสิ่งที่ไม่เป็นจริงได้ ผู้คิดจะได้ประโยชน์ 3 ขั้น ขั้นแรกคือ การมีความสุขที่ได้จินตนาการในสิ่งที่ตนเองปรารถนา ตอบสนองสิ่งที่ตนเองคิด ขั้นที่ 2 คือ เมื่อโกหกตนเองและโกหกผู้อื่นด้วย ก็อาจจะทำให้ผู้อื่นยอมรับ ชื่นชมในสิ่งที่ตัวเองได้โกหกออกไป ขั้นที่ 3 คือ เมื่อโกหกตัวเอง โกหกคนอื่น อาจจะได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น เช่น เมื่อเราโกหกแล้วมี ชื่อเสียงเงินทองเพิ่มมากขึ้นมีคนให้ของให้เงิน ได้สิทธิประโยชน์จากสิ่งนั้น ซึ่งบุคคลจำพวกนี้หากเป็นอย่างสุดโต่ง โกหกแล้วลืมความเป็นจริงไปเลย อาจจะเป็นคนหลายบุคลิก ถือเป็นโรคทางจิตอย่างหนึ่ง เพราะไม่สามารถควบคุมความคิดให้ใช้ชีวิตอย่างปกติได้ และคนที่มีอาการเช่นนี้อาจจะมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด คนที่มีอาการพวกนี้มักจะไม่มาหาหมอ ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และไม่คิดว่าหมอจะต้องรักษาอะไร ทำให้สถิติของคนที่มีอาการเช่นนี้ไม่แน่ชัด แต่คนที่มีอาการโกหกตัวเองจนทำผิดทางกฎหมายก็มีให้เห็นบ้างประปราย ถือว่าไม่ได้เป็นอาการที่อันตรายอะไร
“อาการพวกนี้จะเกิดจากการไม่พึงพอใจในตัวเอง ไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองปรารถนา วิธีที่จะช่วยเหลือหากพบว่าคนใกล้ชิดเรามีอาการเช่นนี้ก็คือ ยอมรับในตัวตนของคน ๆ นั้น เช่น เขาอาจจะไม่ใช่คนรวย แต่เป็นคนดี ก็ยกย่องในความดีนั้น ส่งเสริมในเขาเห็นถึงสิ่งที่ดีที่เขาเป็น คนพวกนี้จะเป็นคนที่อ่อนไหว ต้องการคนรับฟังด้วยความเข้าใจ ต้องให้คำแนะนำที่ดี ที่เหมาะกับเขา หากคน ๆ นั้นเริ่มสร้างปัญหามาก ควรจะให้ข้อมูลกันและกันรอบข้างว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไร ดูแลเขา แต่ไม่ลงทุนอะไรกับเขา เช่น ให้เงินเขา หากสร้างความเดือนร้อนแก่สังคม ทำผิดกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย คนรอบข้างต้องไม่ช่วยกันปกปิดความผิดให้เขา เพราะจะทำให้เขายิ่งถลำลึกลงไป และทำความผิดที่มากขึ้น” พญ.อัมพร กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่