พฤติกรรมการทำร้ายตัวเองเป็นปัญหาที่รุนแรง และซับซ้อน ซึ่งเกิดจากการที่บุคคลนั้นมีความเจ็บปวดภายในจิตใจมากเสียจนต้องทำร้ายร่างกายตนเองเพื่อกลบความรู้สึกเจ็บปวดที่อยู่ลึกๆ ภายในจิตใจนั้น ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นกลไกป้องกันทางจิตอย่างหนึ่ง หรืออาจเกิดจากการตำหนิ และมองว่าตนเองมีข้อบกพร่อง จนไม่สามารถยอมรับข้อเสียของตนเองได้ จึงเบี่ยงเบนไปในการลงโทษทางกาย โดยการทุบตีตัวเอง เอาหัวโขกกำแพง เอาเข็มทิ่ม เอามีดกรีด หรือแทงตนเอง หรือกินยาพิษ ซึ่งถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการบำบัดก็จะพัฒนาไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในที่สุด ดังนั้น เมื่อพบว่าบุคคลใกล้ชิดชอบทำร้ายตนเอง เราจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ซึ่งก่อนที่เราจะช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ ให้เราได้ทราบถึงสาเหตุกันก่อนว่าทำไมพวกเขาจึงมีพฤติกรรมที่ชอบทำร้ายตัวเองเช่นนี้
1.ความเครียด ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ในกรณีที่เป็นนักเรียนอาจมีปัญหาในเรื่องของผลการเรียนตกต่ำ หรือสอบไม่ผ่าน ในวัยรุ่นก็อาจมีปัญหาในเรื่องความรักที่ไม่สมหวัง ในวัยทำงานอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการงาน ครอบครัว หรือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งบางคนอาจสะสมความเครียดไว้ยาวนานจนส่งผลให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า หรือมีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผลที่นำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ต่อไป
2.เรียกร้องความสนใจ ผู้เขียนเคยให้คำปรึกษาเด็กวัยรุ่นผู้หญิงอายุ 15 ปีคนหนึ่ง ที่มีพฤติกรรมชอบทำร้ายตนเอง เธอบอกว่า ที่เธอเอามีดกรีดที่แขนตนเองนั้นก็เพราะเธออยากให้คุณพ่อที่ไม่สนใจเธอหันมาสนใจรอยบาดแผลที่แขนของเธอ เพื่อจะได้พูดคุย และให้เวลากับเธอบ้าง มีคนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าเป็นเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งวัยชรามากมายหลายคนที่ใช้วิธีนี้เพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ หรือลูก หรือคนใกล้ชิด
3.ทำตามสื่อ เชื่อหรือไม่ว่าสื่อมีอิทธิพลต่อการทำร้ายร่างกาย และการฆ่าตัวตาย ตัวอย่างเช่น หลังการเสียชีวิตของมาริลีน มอนโร (1962) ได้มีคนฆ่าตัวตายตามถึง 303 ราย นอกจากนี้ ภาพยนตร์ หรือละครที่นำเสนอภาพของคนทำร้ายตนเองนั้นก็มีบุคคลที่เลียนแบบการทำร้ายตัวเองตามสื่อนั้นๆ ด้วย
นอกจากนี้ พฤติกรรมการทำร้ายตนเองอาจเกิดจากการต่อรองประชดประชัน การต้องการเอาชนะ การติดสารเสพติด หรือเกิดจากเป็นโรคจิตชนิดซึมเศร้า หรือเป็นโรคจิตชนิดคลุ้มคลั่ง
เราสามารถให้ความช่วยเหลือ หรือดูแลคนที่ชอบทำร้ายตนเองได้อย่างไรบ้าง
1.ให้ความอบอุ่น เมื่อพบว่าคนใกล้ชิดชอบทำร้ายตัวเอง เราอย่าแสดงท่าทีตื่นเต้นตกใจ หรือซักถามกับเขาแบบคาดคั้นเอาเป็นเอาตายเหมือนจะเอาความผิดจากเขา เพราะนั่นจะยิ่งทำให้คนที่ชอบทำร้ายตนเองนั้นเกิดความเครียด กดดัน และรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ พยายามพูดปลอบโยนกับเขาอย่างใจเย็น และใช้คำถามที่อ่อนโยน เช่น “แม่รักหนูนะลูก หนูมีอะไรจะให้แม่ช่วยได้บ้าง” และเมื่อเขาระบายออกมาเราต้องตั้งใจฟังโดยไม่ขัดจังหวะ ถ้าในกรณีที่เป็นคนใกล้ชิด เราสามารถจับมือ หรือโอบกอดในขณะที่เขาระบายความในใจให้เราฟัง เพื่อที่เขาจะรู้สึกอบอุ่นสบายใจ ซึ่งจะส่งผลให้เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ง่ายขึ้น
2.ทำให้เขามองเห็นส่วนดี และคุณค่าของตัวเอง คนที่ทำร้ายตัวเองมักจะมองตนเองในด้านลบ ดังนั้น เราต้องช่วยให้เขามองเห็นตนเองในด้านดี โดยการใช้วิธีให้เขาบอก หรือเขียนข้อดีของตัวเองลงในกระดาษให้มากที่สุด นอกจากนี้ เราสามารถเสริมแรงให้แก่เขาโดยบอกกล่าวถึงส่วนดีที่เราเห็นในตัวเขา ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการช่วยเพิ่มคุณค่าในตัวเองได้ดี และง่ายที่สุด และเมื่อเขาเริ่มรู้สึกว่าเขามีคุณค่า เขาก็จะเกิดความรักตัวเอง จะเข้มแข็งขึ้น และจะไม่ทำร้ายตัวเองอีก
คนที่ทำร้ายตนเองเป็นบุคคลที่น่าสงสาร และต้องการการเยียวยาเป็นอย่างมาก ซึ่งยาวิเศษที่ดีที่สุดจากคนในครอบครัว และคนใกล้ชิดก็คือ การให้ความรัก ให้ความอบอุ่นทางใจ และให้เขาได้มองเห็นว่าตัวเขาเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่ามากเกินกว่าจะลงมือทำร้ายตนเอง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่