xs
xsm
sm
md
lg

แนะปรับพฤติกรรมชีวิต พิชิตเสี่ยง "เบาหวาน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ชวนคนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ชีวิต "กิน อยู่ เป็น" ลดเสี่ยงโรคเบาหวาน เน้นอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่ขาดมื้อเช้า พร้อมฝึกสติ เพิ่ใพลังใจช่วยควบคุมโรคเบาหวาน

วันนี้ (13 พ.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้พบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 387 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2573 จะมีผู้ป่วยโรคนี้ถึง 600 ล้านคน สำหรับประเทศไทย พบโรคเบาหวาน 3.1 ล้านคน ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 11,389 คน ค่ารักษาปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท ปัญหาของโรคเบาหวานหากควบคุมอาการไม่ได้ จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งไตวาย เท้าเน่า ตาบอด โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 ที่พบมากกว่า 98% เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน วันที่ 14 พ.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเบาหวานโลก ประเด็นรณรงค์ระดับโลกในปีนี้ คือ “รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ” สธ.จึงร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กำหนดประเด็นรณรงค์เนื่องในวันเบาหวานโลกปีนี้คือ “กิน อยู่ เป็น”

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โรคเบาหวานที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตร้อยละ70 ป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกวัยลงมือเปลี่ยนชีวิตตั้งแต่บัดนี้ คือ 1.เลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ จะช่วยให้ควบคุมเบาหวานได้สำเร็จโดยเลือกดื่มน้ำสะอาด กินผักอย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน กินอาหารจำพวกถั่ว ธัญพืช ผลไม้รสไม่หวาน เนื้อไม่ติดมัน ข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ไขมันไม่อิ่มตัว 2.กินอาหารเช้าทุกวัน จะช่วยควบคุมความอยากอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละไม่น้อยกว่า 30 นาที ตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนผู้ป่วยเบาหวานให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์ เพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดและป้องกันภาวะแทรกซ้อน

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ป่วยเบาหวานนอกจากต้องดูแลสุขภาพทางกายแล้วสุขภาพทางใจก็ต้องดูแลเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยอาจแสดงปฏิกิริยาทางใจออกได้ในหลายลักษณะ เช่น บางคนต่อต้าน ไม่ยอมรับ รู้สึกโกรธ ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุ้นเคย หรือบางคนคิดว่าไม่เป็นไร ส่งผลให้ละเลย ไม่เห็นความสำคัญของการรักษาและการปฏิบัติตัว จึงทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการเบาหวานได้ และเมื่อมีการยืนยันผลเลือดเป็นที่แน่ชัดอาจทุเลาอาการโกรธลง แต่จะเปลี่ยนเป็นซึมเศร้าแทน โดยผู้ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นเบาหวานจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากถึง ร้อยละ 30 การคัดกรองภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวาน จึงมีความจำเป็น ซึ่งในโรงพยาบาลชุมชนก็ได้จัดให้มีบริการคัดกรองโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคเรื้อรังแล้ว

นพ.เจษฎา กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเริ่มต้นที่ใจ คือ ให้กำลังใจตนเอง เพราะหากท้อแท้ ไม่ยอมช่วยเหลือตนเอง หรือไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ก็ยากที่จะมีความสุข ขณะเดียวกัน ครอบครัวและคนใกล้ชิดจำเป็นต้องให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีพลังใจที่จะสู้กับโรคต่อไป นอกจากนี้ การฝึกสติ เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่จะช่วย ป้องกัน บรรเทา และ บำบัดอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคเบาหวานนี้ได้ หากเรามีสติย่อมช่วยให้เรามีความยั้งคิด มีอารมณ์ผ่อนคลาย ลดซึมเศร้า ตระหนักรู้ที่จะดูแลตัวเอง รู้จักเลือกที่จะรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น