xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยงอาหารฟาสต์ฟูด ชีส ชา กาแฟ ลดเสี่ยง “ไมเกรน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์แนะวิธีเลี่ยง “ไมเกรน” ออกกำลังสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด เลี่ยงอาหารฟาสต์ฟูด ชีส เนยแข็ง ไส้กรอก ชา กาแฟ กลิ่นน้ำหอม และสารเคมีบางชนิด

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคปวดศีรษะไมเกรนมักพบบ่อยในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียคุณภาพชีวิต และสมรรถนภาพในการทำงานของคนวัยนี้ ลักษณะอาการปวดศีรษะไมเกรนจะปวดแบบตุ๊บๆ บริเวณที่มีหลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น บริเวณขมับ และท้ายทอย ระดับการปวดอาจรุนแรงปานกลางถึงมากจนไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ โดยผู้ป่วยประมาณ 60% จะปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง อีกประมาณ 35% จะปวดศีรษะสลับข้างไปมา ส่วนที่เหลือจะปวดศีรษะทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้ ตาจะสู้แสงไม่ได้ และไม่ชอบเสียงดัง อาการปวดจะแย่ลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ และเมื่อนอนพักอาการก็จะดีขึ้น หากไม่ได้รักษาอาการปวดจะอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง ความถี่ของอาการอาจเป็นได้หลายครั้งต่อเดือน หรือปีละ 1-2 ครั้ง

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า โรคปวดศีรษะไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แบบมีอาการเตือนจะเกิดขึ้นช่วงก่อน หรือหลังปวดไม่เกิน 1 ชั่วโมง นาน 15-30 นาที โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เห็นแสงวูบวาบ ซิกแซ็ก หรือเงามืดขยายวงที่มุมหนึ่งของลานสายตา เจ็บ หรือเหน็บชาร่างกายครึ่งซีก พูดผิดปกติ และอ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก ส่วนในเด็กอาการปวดศีรษะอาจไม่ชัดเจนแต่จะมีอาการนำ เช่น อาเจียน หรือปวดท้องติดต่อกันโดยไม่มีสาเหตุอื่น และแบบไม่มีอาการเตือนจะพบมากประมาณ 85% สาเหตุของโรคปวดศีรษะไมเกรน คือ มีการกระตุ้นต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกที่บริเวณเยื่อหุ้มสมอง และหลอดเลือดใหญ่ภายในกะโหลกหลั่งสารเคมีต่างๆ ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดใหญ่ที่ติดกับเยื่อหุ้มสมองขยายตัว และทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมา

“ไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาการของโรคอาจรุนแรงขึ้นจนทำให้ต้องใช้ยาแก้ปวดมากเกินขนาด โดยธรรมชาติของโรคอาการจะดีขึ้นหลังวัยหมดระดู การรักษาในรายที่มีอาการไม่บ่อย (น้อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน) อาจรับประทานยาแก้ปวดเป็นครั้งคราว ส่วนผู้ที่มีอาการปวดนานเกิน 72 ชั่วโมง ปวดศีรษะไมเกรนครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี หรือขณะตั้งครรภ์ มีอาการปวดมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน และมีอาการปวดร่วมกับมีไข้ ผื่นผิวหนัง คอแข็ง ชัก กระตุก ซึมลง ตามัว เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง” อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวและว่า ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ การอดนอน การทำงานหนักเกินไป การอดอาหาร หรือรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เล่นกีฬาที่หักโหมเกินไป อากาศร้อน/เย็นจัด มองแสงจ้า เสียงดัง กลิ่นน้ำหอมบางชนิด กลิ่นสารเคมีบางอย่าง อาหารประเภทฟาสต์ฟูด ชีส เนยแข็ง ไส้กรอก ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ สารแทนความหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ ควรฝึกผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน การเรียน หากมีอาการปวดใช้น้ำแข็งประคบที่ศีรษะเพื่อบรรเทาอาการ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หรือนวดด้วยกลิ่นหอมจะช่วยให้ผ่อนคลายจากการปวดไมเกรนได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น