xs
xsm
sm
md
lg

เตือนพ่อแม่คุมเข้ม “อาหาร” ลูกช่วงปิดเทอม ห่วงกินตามใจไม่ยั้งทำลายสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ห่วงปิดเทอม เด็กจัดหนัก “อาหารทำลายสุขภาพ” ทั้งฟาสต์ฟูด ขนมถุง น้ำอัดลม เสี่ยงรับโซเดียม - ไขมันสูง กรมอนามัยเตือนพ่อแม่คุมเข้มอาหารลูก เตรียมอาหารครบ 5 หมู่ ชวนออกกำลังกาย เน้นผลไม้สด ขนมไทยหวานน้อย

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงปิดเทอม พฤติกรรมการกินของเด็กบางคนมักเปลี่ยนไป กินทั้งน้ำอัดลม น้ำหวาน ขนมถุง ขนมกรุบกรอบ จึงได้รับน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม สูงเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ บางคนมักเลือกกินอาหารมื้อเที่ยงแบบง่าย ๆ ซ้ำ ๆ อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลวกน้ำร้อน อาหารจานด่วนตะวันตก ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หมูทอด ไก่ทอด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่ผัก และ ข้าวไข่เจียว เป็นต้น หากกินอาหารเหล่านี้เป็นประจำจะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางชนิด หรือมากเกินความต้องการของร่างกายจนเกิดภาวะโภชนาการเกินหรือภาวะอ้วน ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตในเด็กนักเรียนอายุ 6 - 18 ปี จำนวน 2,546,714 คนทั่วประเทศของกรมอนามัย ปี 2557 พบว่า นักเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน จำนวน 242,900 คน คิดเป็นร้อยละ 9.5 เตี้ย จำนวน 190,861 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5 และผอม จำนวน 132,067 คน คิดเป็นร้อยละ 5.2 ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบให้มีสติปัญญาด้อย เรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งภาวะอ้วนเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

นพ.ณัฐพร กล่าวว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงควรมีส่วนช่วยในการจัดเตรียมอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของลูก โดยให้คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการที่เด็กจะได้รับ ซึ่งใน 1 วัน เด็กควรได้รับพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี คือ ข้าวหรือแป้ง 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ 6 ช้อนกินข้าว ผัก 4 ทัพพี นม 2 แก้ว ผลไม้ครบทุกมื้อ ตัวอย่างเมนูในหนึ่งมื้ออาหาร เช่น รายการที่ 1 ข้าว ไข่ตุ๋นใส่ผักหลากสี อาทิ มะเขือเทศ แครอท ผัดกะหล่ำปลี กล้วยน้ำว้า 1 ลูก รายการที่ 2 ข้าว หมูทอด แกงจืดหมูสับผักกาดขาวเต้าหู้ไข่ ส้มเขียวหวาน 1 ผล และรายการที่ 3 บะหมี่หมูแดงใส่ผักกวางตุ้ง มะละกอ 6 ชิ้นคำ นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กเสนอเมนูอาหารบางอย่างที่ชอบในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ทำให้เด็กอยากทานอาหาร และควรฝึกเด็กให้กินอาหารตรงเวลา ไม่กินจุบจิบ ไม่กินขนมก่อนกินอาหารมื้อหลัก เพราะจะทำให้อิ่มจนไม่สามารถกินอาหารมื้อสำคัญได้ ฝึกให้เด็กกินอาหารแต่ละประเภทอย่างพอดี ไม่กินตามใจ ไม่ให้อาหารเป็นสิ่งต่อรอง เป็นรางวัล หรือทำโทษ ควรเตรียมอาหารว่างที่มีประโยชน์ให้เด็กกินตอนสายและตอนบ่าย เช่น ผลไม้สด น้ำผลไม้ ขนมไทยหวานน้อย และให้เด็กดื่มนมวันละ 2 แก้ว ดื่มน้ำสะอาด วันละ 6 - 8 แก้ว

“ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ หรือส่งเสริมการเล่นกีฬาประเภท ฟุตบอล ว่ายน้ำ วิ่ง และปั่นจักรยาน แต่ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แบ่งเวลาให้เหมาะสม ละสายตาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น