ผศ.พญ.ยุพาพร อมรชัยเจริญสุข
หัวหน้าหน่วยกุมารเวชศาสตร์โรคไต
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องโรคไตในเด็กพบมากขึ้น เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม มีการบริโภคอาหารที่มีรสชาติจัดโดยเฉพาะรสเค็ม ได้แก่ อาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีส่วนผสมเป็น แป้ง ไขมัน น้ำตาล และเกลือปริมาณมาก ในแต่ละวันอาจได้รับเกลือเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งมากเกินความต้องการ ก่อให้เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนเสี่ยงเป็นโรคไตได้
นอกจากนั้นการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป และไม่ออกกำลังกายจนก่อให้เกิดโรคอ้วน ส่งผลเสียต่อการทำงานของไตในเด็ก อุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก สาเหตุโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ได้แก่ ไตเสื่อมจากเบาหวาน และภาวะความดันเลือดสูง สาเหตุโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กนั้นแตกต่างจากในผู้ใหญ่ สาเหตุที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ ความผิดปกติแต่กำเนิดของไต และของทางเดินปัสสาวะ โรคไตชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
สาเหตุสำคัญของโรคไตในเด็ก
สาเหตุสำคัญของโรคไตในเด็ก เกิดขึ้นกับช่วงอายุของเด็ก โรคไตสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. โรคไตในเด็กเล็ก เกิดจากความผิดปกติของรูปร่างไตตั้งแต่กำเนิด การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะทำให้เกิดภาวะไตบวมน้ำ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือภาวะกรวยไตอักเสบ การไหลย้อนกลับของปัสสาวะไปที่ไต
2. โรคไตในเด็กโต เกิดจากการอักเสบของไต โดยมาจากโรคภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น โรคไตเนโฟรติก โรคไตอักเสบจากเอสแอลอี ภาวะไตอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียในคอหรือผิวหนัง โรคไตอักเสบชนิดไอจีเอ (IgA nephropathy) ส่วนสาเหตุอื่นๆที่พบในเด็กโตได้แก่ ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน และภาวะอ้วน
อาการ
อาการของโรคไตในเด็ก จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคไตด้วย เช่น
- ผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูง ปัสสาวะแสบขัด มีกลิ่นเหม็น ปวดท้องน้อย มักเป็นจากการติดเชื้อที่ไต
- ผู้ป่วยที่มีอาการบวม ปัสสาวะเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ หอบเหนื่อยและซีดลง เกิดจากการอักเสบของไต
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตบางชนิด มักจะไม่มีอาการ แต่จะตรวจพบโดยบังเอิญ เช่น ตรวจพบไตบวมน้ำระหว่างที่อยู่ในครรภ์มารดา
การรักษา
การรักษาโรคไตในเด็ก ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคไต ในรายที่มีติดเชื้อที่ไต จะต้องเข้ารับการรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนไตอักเสบบางชนิดรักษาโดยใช้ยาสเตียรอยด์ และยากด ผู้ป่วยบางรายที่มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ หรือการไหลย้อนกลับของปัสสาวะที่รุนแรง ในกรณีแบบนี้ควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยศัลยแพทย์เด็กด้านระบบทางเดินปัสสาวะ สำหรับโรคในกลมของความผิดปกติของโครงสร้างของไตและระบบทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิด อาจไมสามารถรักษาให้หายขาดได แต่หากวินิจฉัยและ รักษาแต่เนิ่นๆกจะชะลอการเสื่อมของไตลงได้ บางรายตรวจพบมีภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะต้องรับการรักษาโดยการล้างไตผ่านทางช่องท้อง การฟอกเลือด และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
การป้องกัน
ในส่วนของการป้องกันและลดความเสี่ยงสำหรับโรคไต มีดังนี้
1. การควบคุมน้ำหนัก ลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม รสหวาน รวมถึงการออกกำลังกายอยู่เสมอ
2. ป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ได้ด้วยการไม่กลั้นปัสสาวะ สอนเด็กในการดูแลทำความสะอาดหลังปัสสาวะควรใช้กระดาษซับให้แห้ง เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และดื่มน้ำปริมาณที่มากขึ้น เพื่อไม่ให้ท้องผูก เนื่องจากการที่มีท้องผูกเรื้อรัง จะทำให้ระบบการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติไปด้วย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ไตอีกด้วย
3. ไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากยาบางตัวมีผลต่อการทำงานของไต
4. อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำนานเกินไป เช่น ท้องเสีย หรือ อาเจียนรุนแรง กินน้ำเกลือไม่ได้ ปัสสาวะไม่ออกเกิน 8 - 12 ชั่วโมง ต้องมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะไตเสียหายเฉียบพลัน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่