xs
xsm
sm
md
lg

เด็กอ้วนมากไป ระวัง ‘ไต’ ถามหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์เตือน ห่วงเด็กกับโรคไต ที่หากอ้วนหรือน้ำหนักเกินมากไป เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเพิ่มมากขึ้น ทั้งแนะว่า ป้องกันได้หากกิน ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

ไต อวัยวะเล็ก ๆ รูปทรงเหมือนเมล็ดถั่ว แต่สำคัญไม่แพ้อวัยวะไหน ๆ ไต 2 ข้างของคนเรามีหน้าที่สำคัญ คือ ขับของเสียต่าง ๆ ในร่างกายออกทางปัสสาวะ ทำให้เลือดและร่างกายคนเราสะอาด โดยของเสียที่ไตต้องขับออกส่วนหนึ่งมาจากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จากสถิติแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเป็นโรคไตเพิ่มมากขึ้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ประมาณปีละ 7,000 - 10,000 ราย จากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยโรคไตมักจะมีอาการแทรกซ้อน ทั้งหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย (Thai SEEK Project) จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ “โรคไตเป็นได้ตั้งแต่เด็ก รู้แต่เล็กป้องกันได้” สาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันและเกลือโซเดียมสูง ทำให้เป็นโรคอ้วนและมีผลกระทบต่อไต

นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ไตทำหน้าที่ขจัดของเสียออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ หากเราไม่มีไต หรือไตวายหยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด และในร่างกาย ทำให้เลือดและร่างกายสกปรก ในที่สุดอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็จะเป็นพิษ หยุดทำงานและเสียชีวิต

ภาวะไตวาย คือ ภาวะไตหยุดทำงาน ของเสียทั้งหลายจะคั่งค้างในเลือดและในร่างกายมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียน, อ่อนเพลีย, ซีดโลหิตจาง, คันตามตัว, มีจ้ำตามตัว, อาเจียนเป็นเลือด, ท้องเดิน, ความดันโลหิตสูง, หัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดปรกติ, หายใจลำบาก, ไอเป็นเลือด, น้ำท่วมปอด, กระดูกเปราะบางหักง่าย, ปวดกระดูก, ถ้าของเสียค้างในสมองมาก ๆ จะมีอาการชักและสมองหยุดทำงาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะเป็นหมัน และหมดสมรรถภาพทางเพศ

นพ.วิรุฬห์ อธิบายว่า หลายคนเชื่อว่า โรคไตเกิดในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แต่แท้จริงโรคไตเกิดได้ทุกวัย โรคไตในเด็กนั้น สาเหตุหลักมักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นหลัก ซึ่งมีลักษณะการเกิดความผิดปกติ ได้แก่ ท่อปัสสาวะอุดตัน, กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ทำให้น้ำปัสสาวะล้นกลับเข้าสู่ไต, เนื้อไตอักเสบ (Glomerulonephritis), มีซีสต์ที่ไต และไตลีบ

นอกจากนี้ โรคอ้วนยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของโรคไต โดยเกิดจากการที่ไตต้องทำงานหนักมากกว่าคนรูปร่างปกติที่อายุเท่ากัน ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมชนิด Focal Segmental Glomerulonephritis จนทำให้การทำงานของไตลดลง และเกิดโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อีกทั้งโรคอ้วน ยังเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง โดยในปัจจุบันอายุของคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงลดลง บางรายพบตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เกิดโรคไตจากเบาหวาน และความดันโลหิตสูงในอนาคตได้ การป้องกันคือการควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้งและไขมันปริมาณมาก หมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพประจำปี หากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อลดน้ำหนักโดยไม่กระทบการเจริญเติบโต

สัญญาณอันตรายของโรคไตในเด็กนั้น ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้จากปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น เป็นฟอง สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ออกกระปริบกระปรอย บางรายจะมีปัสสาวะออกมาก หรือน้อยกว่าปกติ มีอาการบวมที่ใบหน้า เปลือกตา ขา หรือทั้งตัว หรืออาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ซีด เหนื่อยง่าย หรือตัวผอมบาง

ที่สำคัญ หากเกิดโรคไตวายในเด็ก เด็กจะแคระแกร็นหยุดเจริญเติบโต เพราะหากเด็กไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ท้ายที่สุดอาจจะเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังจนถึงขั้นต้องล้างไต ด้วยการเจริญเติบโตช้า เพราะร่างกายขาดสารอาหารและจากความผิดปกติของเกลือแร่ หรือฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ทำให้เด็กกลุ่มนี้ตัวเล็กกว่าเด็กวัยเดียวกัน

วิธีรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมี 3 วิธี ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีของเสียคั่งค้าง ผ่านเข้าไปในเครื่องกรองเลือด ซึ่งจะกรองของเสียจากเลือดและนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย, การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) และการเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด โดยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ใช้วิธีการรักษาเช่นนี้ โดยมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันแพทย์ไทยเรามีความรู้ความสามารถในการผ่าตัดเปลี่ยนไตประสบผลสำเร็จได้ดีทัดเทียมกับต่างประเทศ ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนไตสำเร็จแล้ว จะสามารถมีชีวิตยืนยาวและดำรงชีวิตด้วยคุณภาพที่ดี ประกอบอาชีพได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันโรคไตในเด็ก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการแสดงของโรคไตข้างต้น ถ้าพบความผิดปกติ ควรพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทันที, ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วยการรักษาสุขอนามัยในการถ่ายปัสสาวะ เช่น ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะออกจนสุดโดยไม่เร่งรีบ ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยในเด็กโตควรดื่มน้ำประมาณ 6 - 8 แก้วต่อวัน ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเอง เพราะการรับประทานยาซ้ำซ้อน ปริมาณยาไม่เหมาะสม ยาหมดอายุ หรือยาที่อันตรายต่อไต จะทำให้ไตวายได้ ที่สำคัญ ควรดูแลน้ำหนักตัวของเด็กไม่ให้มากเกินไป เด็กอ้วนที่มองว่าน่ารักอาจมีผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงควรรับประทานอาหารให้เหมาะสม เลี่ยงของจุบจิบ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อการเจริญเติบโตและสุขภาพที่ดี

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น