ระวัง! สารฟอกขาวในตะเกียบไม้ ชี้ คนแพ้ง่ายเสี่ยงโรคหืด แน่นหน้าอก คันคอ เป็นผื่น แผลพุพอง กรมวิทย์ตรวจหาสารยังไม่พบเกินค่ามาตรฐาน เล็งตรวจซ้ำ เม.ย. นี้
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยนิยมใช้ตะเกียบสำหรับอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว โดยตะเกียบอาจทำมาจากไม้ โลหะ หรือพลาสติก แต่ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันเป็นตะเกียบไม้ ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาทำตะเกียบ คือ ไม้ไผ่ ไม้โมกข์ และ ไม้ฉำฉา เนื่องจากมีสีขาว เนื้อละเอียด ไม่ทำให้อาหารมี สี กลิ่น รส ผิดเพี้ยนไป แต่อาจมีการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อฟอกเนื้อไม้ให้ขาวและป้องกันเชื้อรา ปัจจุบันร้านอาหารนิยมใช้ตะเกียบไม้แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อความสะดวก สุขอนามัยที่ดี และป้องกันเชื้อโรคติดต่อระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม เคยมีข่าวที่ไต้หวันตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในตะเกียบเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งไต้หวันได้กำหนดปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
“ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รู้จักกันว่า สารฟอกขาวมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาล เมื่ออาหารถูกความร้อนในกระบวนการผลิตและสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ ราและบักเตรีได้ดี สามารถนำสารนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเป็นวัตถุกันเสีย และเป็นสารป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอาหาร ผักผลไม้อบแห้ง วุ้นเส้น และ ลูกกวาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้สารนี้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น นำไปใช้ผสมในน้ำยาอัดรูป ฟอกสีผ้า กระดาษและสบู่ เป็นต้น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคเมื่อใช้ในปริมาณต่ำ เนื่องจากร่างกายสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่จะมีผลกระทบต่อคนที่เป็นโรคหอบหืดหรือคนที่แพ้ง่ายจะมีอาการทันที ดังนั้น ผู้บริโภคที่ใช้ตะเกียบในการบริโภคอาหาร จึงควรสังเกตหากพบว่าตะเกียบมีเนื้อไม้ขาวจัดและมีกลิ่นฉุนก็ไม่ควรใช้หรืออาจไปใช้ตะเกียบแบบใช้ซ้ำได้ ซึ่งสามารถล้างให้สะอาดได้ก่อนใช้ แต่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคที่แพ้ง่าย เช่น ทำให้เกิดโรคหืด มีอาการแน่นหน้าอก คันคอ หรือเป็นผื่นคัน และเป็นแผลพุพอง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าการบริโภคในแต่ละวันที่ได้รับหรือค่า ADI ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน” นพ.อภิชัย กล่าว
นพ.อภิชัย กล่าวว่า ปี 2550 กรมฯ ได้สุ่มตรวจตะเกียบไม้ 8 ตัวอย่าง และไม้จิ้มฟัน 2 ตัวอย่าง ตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในตะเกียบทั้ง 8 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 19.4- 256.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนไม้จิ้มฟันตรวจพบ 1 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบ 4.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อทดสอบการละลายของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ออกมาจากตะเกียบโดยการนำมาแช่ในน้ำเดือดเป็นเวลา 5 นาทีแล้วนำน้ำมาตรวจวิเคราะห์ พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ละลายออกมาอยู่ในช่วง 2-91.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ประเทศไทยไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในตะเกียบ แต่เมื่อเทียบกับกฎหมายของไต้หวันพบว่าปริมาณที่พบไม่เกินมาตรฐาน โดย เม.ย. นี้ กรมฯ จะตรวจสารฟอกขาวในตะเกียบซ้ำอีกครั้ง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากสถานที่จำหน่ายทั้งตลาดสด ตลาดค้าส่ง และค้าปลีก เพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการเฝ้าระวังได้ต่อไป
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่