xs
xsm
sm
md
lg

เร่งตรวจสอบสถานพยาบาล “สะกดจิตบำบัด” ทำผิด กม.หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส.เร่งตรวจสอบสถานพยาบาลให้บริการ “สะกดจิตบำบัด” โฆษณาผิดกฎหมาย-ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบโรคศิลปะหรือไม่ ชี้ศูนย์สะกดจิตอ้างรักษาโรคได้ถือเป็นคลินิกเถื่อน ยิ่งผิดหนัก

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการโฆษณาสะกดจิตรักษาสารพัดโรค ทั้งมะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ฯลฯ ว่า จากการตรวจสอบสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนต่อสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ทั้งที่ดำเนินการโดยแพทย์และไม่ใช่แพทย์ พบว่า มี รพ.เอกชน 2 แห่งที่ให้บริการ โดยให้เจ้าหน้าที่กองกฎหมายและสำนักสถานพยาบาลฯ ตรวจสอบว่า มีการโฆษณาการสะกดจิตบำบัดรักษาโรคหรือไม่ ปฏิบัติตามกฎหมายการโฆษณาสถานพยาบาล ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 พ.ศ.2546 ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการโฆษณาสถานพยาบาลอย่างถูกต้องหรือไม่ หากฝ่าฝืนจะลงโทษปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง และยุติการเผยแพร่โฆษณา ส่วนของคลินิกยังไม่มีที่ใดเปิดให้บริการ เนื่องจากอยู่ระหว่างเปิดให้ขอขึ้นทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.2558

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า นอกจากนี้ จะให้ตรวจสอบตัวบุคคลผู้ให้บริการว่ามีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าไม่มีการขึ้นทะเบียนจะเข้าข่ายผู้ประกอบโรคศิลปะเถื่อน แม้ว่าจะเปิดคลินิกรักษาในโรงพยาบาลที่ถูกกฎหมายก็ตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตรวจสอบสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายอย่างถูกต้องว่า มีการควบคุมผู้ให้บริการให้ปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากปล่อยปละละเลยถือว่ามีความผิดเช่นกัน

“ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการจับผิด หรือสร้างกระแสไม่เห็นด้วยต่อการสะกดจิต เพียงแต่ต้องการให้ข้อมูลว่า หากอ้างว่าการสะกดจิตสามารถรักษาสารพัดโรค สารพัดปัญหา ถือว่าไม่ถูกต้อง เป็นการโอ้อวดเกินจริง และหากเป็นสถานพยาบาลก็จะยิ่งเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ แต่หากเป็นเพียงศูนย์สะกดจิตให้บริการทั่วไป ก็ต้องพิจารณามีการอวดอ้างว่ารักษาโรคได้หรือไม่ หากมีก็ถือว่าผิดหนัก เนื่องจากไม่ได้ขึ้นทะเบียนสถานพยาบาล แต่อวดอ้างสรรพคุณการรักษา ถือเป็นคลินิกเถื่อน และหากไม่ใช่แพทย์อีกก็ถือเป็นหมอเถื่อนด้วย จะเข้าข่ายผิดมาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท และหากเป็นหมอเถื่อนมีโทษจำคุก 3 ปีปรับ 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังต้องถูกแพทยสภาพิจารณาอีก ดังนั้น การจะทำอะไรก็ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อตลอด” อธิบดี สบส. กล่าว

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลฯ กล่าวว่า การสะกดจิตมิใช่การประกอบโรคศิลปะจึงไม่สามารถให้บริการในสถานพยาบาลได้ การที่จะให้บริการตรวจรักษาได้จะต้องเป็นมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพสาขานั้นๆ หรือคณะกรรมการวิชาชีพรับรองตามเนื้อหาหลักสูตรที่รับรองให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น