เครือข่ายเอดส์ แฉ ร.ร. ประถมใน จ.นครพนม บังคับเด็ก 4 ขวบตรวจเลือดหาเชื้อ “เอชไอวี” ทั้งที่มีผลตรวจชัดว่าไม่มีการติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด หักหน้า สธ. หลังประกาศนโยบายลดการเลือกปฏิบัติเพียงวันเดียว ห่วงช่วงเปิดเทอมใหม่ร้องเรียนหลายราย จี้ สธ.- ศธ. หามาตรการลงโทษ ด้านปลัด สธ. รับลดตีตราทางปฏิบัติยังมีปัญหา
วันนี้ (14 มี.ค.) นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พร้อมด้วย นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย และตัวแทนเครือข่ายกว่า 10 คน เดินทางมาร้องเรียน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีเด็กวัย 4 ขวบ ถูกโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แห่งหนึ่ง ใน จ.นครพนม บังคับให้ตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี
นายอนันต์ กล่าวว่า พ่อและแม่ของเด็กนั้นเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่มีอาการเป็นปกติดี สามารถทำงานตามปกติทั่วไปได้ เนื่องจากรับประทานยาต้านไวรัสตลอด ซึ่งคนในชุมชนทราบว่าทั้งสองติดเชื้อเอชไอวี เพราะตัวคุณพ่อของเด็กคนนี้ก็เป็นหนึ่งในแกนนำในการรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์ แต่สุดท้ายลูกสาวกลับถูกเลือกปฏิบัติ เมื่อคุณแม่พาไปสมัครเข้าเรียนชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครพนม ซึ่งมีใบตรวจยืนยันชัดเจนว่าเด็กคนนี้ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก แต่ครูกลับบังคับให้ไปตรวจเลือดใหม่อีก ซึ่งทางโรงพยาบาลยืนยันว่าจะไม่ตรวจให้ เพราะเด็กเคยตรวจแล้วตั้งแต่แรกเกิดว่าไม่มีเชื้อ แต่ทางโรงเรียนไม่ยอมรับฟัง โดยผู้อำนวยการโรงเรียนได้ออกหนังสือถึงโรงพยาบาลให้ตรวจเลือดเด็กรายนี้ โดยระบุว่า เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเข้าศึกษาต่อและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้กับนักเรียนร่วม ซึ่งผู้ปกครองเด็กบอกว่าทั้งโรงเรียนมีลูกของเขาเพียงคนเดียวที่ถูกบังคับให้ตรวจ
“กรณีนี้เด็กไม่มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนไม่มีปัญหาอะไร แต่หากเด็กรายนี้มีการติดเชื้อ เด็กจะได้รับการปฏิบัติอย่างไร จะได้เข้าเรียนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้น่ากังวล เพราะผู้ใหญ่หรือคนในชุมชนยังคงมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีอยู่มาก และการบังคับให้ตรวจเลือดเช่นนี้ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมาร้องเรียนต่อ สธ. เพื่อขอให้มีมาตรการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยควรมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิดสิทธิตรงนี้ หรือทำให้เกิดเกิดความเสียหายต่อเด็ก” นายอนันต์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ครอบครัวนี้ถูกเลือกปฏิบัติ โดยเมื่อ 2 ปีก่อน เด็กคนนี้ก็ถูกปฏิเสธจากชุมชน เมื่อครั้งพาไปสมัครเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ซึ่งได้มีการร้องเรียนไปที่อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และมีรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับมาว่ายังไม่อาจสรุปได้ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีตามที่ร้องเรียน ส่วนเหตุการณ์ถูกบังคับให้ตรวจเลือดนี้ ได้มีการร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม จ.นครพนม ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ระบุว่า โรงเรียนทำถูกแล้วที่ให้มีการตรวจ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้สะท้อนว่านโยบายลดการตีตรายังมีปัญหาอยู่มาก เพราะแม้แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังมีความคิดเช่นนี้ แม้แต่ใน สธ. เองก็เคยมีการสำรวจว่า บุคลากรกว่า 36% ยังมีการรังเกียจ กังวล ในการที่จะสัมผัสสิ่งของผู้ติดเชื้อ ซึ่ง สธ. เองต้องทำงานให้เข้มข้นขึ้นทั้งเชิงรุก คือ มีทีมที่เข็มแข็งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเชิงรับคือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีแก่ประชาชน
นางสุภาลักษณ์ สิทธิจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดกับเด็กรายนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ สธ. ประกาศนโยบายรณรงค์ลดการเลือกปฏิบัติ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559 เพียงัวนเดียว ทั้งนี้ ทุกช่วงการเปิดเทอมใหม่ เครือข่ายฯ จะได้รับเรื่องร้องเรียนเช่นนี้ทุกปี ปีละประมาณ 3 - 4 ราย ซึ่งจริง ๆ เชื่อว่า ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิยังมีอีกมาก แต่อาจเคลียร์ได้ภายในชุมชนและไม่ได้มีการร้องเรียนมา อย่างปีก่อนก็มีการร้องเรียนเรื่องการบังคับให้ตรวจเลือดหาเอชไอวีที่ จ.ระยอง หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็พบปัญหานี้ โดยจากการออกตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจ ซึ่งก็มีเด็กกลุ่มเสี่ยงมารับการตรวจ ปรากฏว่าเมื่อผลตรวจออกมาว่าติดเชื้อ กลับมีการส่งผลตรวจนี้ไปให้สถานศึกษา ซึ่งไม่สามารถบอกได้ ถือว่าเป็นการละเมิด
ด้าน นพ.โสภณ กล่าวภายหลังรับเรื่องร้องเรียนว่า จริง ๆ แล้ว รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. มีนโยบายชัดเจนว่าห้ามตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อเป็นเงื่อนไขในการรับหรือไม่รับนักเรียน อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของชุมชนสังคมด้วย ซึ่งภาพรวมยังไม่เข้าใจเรื่องเอชไอวีและเอดส์ โดยยอมรับว่านโยบายลดการตีตรานั้นในทางปฏิบัติยังมีปัญหา ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการทำความเข้าใจกับคนในสังคม ซึ่งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ก็มีนโยบายให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเดินหน้าลดปัญหาการตีตรา เช่น สธ. ศธ. กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย โดยให้ดำเนินการคือ เป็นองค์กรที่เป็นมิตรกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ สร้างความเข้าใจเรื่องเอชไอวีและเอดส์ที่ถูกต้องแก่ประชาชน แก้ปัญหาเรื่องกฎหมายและระเบียบที่ละเมิดสิทธิ เช่น ประกาศบังคับตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน และมีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่ง สธ. จะมีกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานในการดูแลเรื่องนี้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่