xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบ “ครูกลับห้องเรียน” เพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สสค. เปิดผลสำรวจ ครูใช้เวลากิจกรรมนอกชั้นลดลงจาก 84 วัน ในปี 57 เหลือ 65 วันในปี 58 ชูนโยบาย ศธ. ช่วยคืนครูกลับห้องได้ จากการลดจำนวนวิชา ลดกิจกรรมประกวด อบรม ปรับระบบประเมินวิทยฐานะ

วันนี้ (13 ม.ค.) ที่อาคารไอบีเอ็ม ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวในงานแถลงข่าว “เปิดผลสำรวจตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี” ว่า ผลสำรวจกิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู ผ่านกลุ่มตัวอย่าง “ครูสอนดี” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากทุกท้องถิ่นทุกสังกัดทั่วประเทศ โดยมีอายุเฉลี่ยและวิทยะฐานะสูงกว่าครูทั่วไป จำนวน 319 คน ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างเดิมจากการเก็บข้อมูลในปี 2557 เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการเปรียบเทียบสถานการณ์ “กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู” เก็บข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 2558 - 5 ม.ค. 2559 พบว่า ในปี 2558 มีวันเปิดเรียน 200 วัน ครูต้องใช้เวลากับกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ไม่ใช่การสอน 65 วัน คิดเป็น 32.5% ซึ่งลดลงจากปี 2557 ที่ครูต้องใช้เวลาถึง 84 วัน เท่ากับว่าครูได้เวลาคืนสู่ห้องเรียนมากขึ้นถึง 19 วัน หรือคิดเป็นอัตราส่วนถึง 25% เทียบกับปี 2557   

ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า ปัจจัยที่สามารถคืนเวลาให้ครูได้ถึง 25% เทียบกับปี 2558 เกิดจากการดำเนินนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น การลดจำนวนวิชาที่ใช้สอบประเมินผู้เรียน การขอความร่วมมือ สพฐ. ในการลดกิจกรรมประกวดแข่งขันและการอบรมครูลง นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่มีการดำเนินการไปแล้วแต่ยังรอให้เห็นผลกระทบต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะของครูและผู้บริหารที่เน้นผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาผู้เรียนโดยไม่ผูกกับการแข่งขัน การได้รางวัล หรือการทำเอกสารวิชาการเป็นหลัก การปรับระบบการประเมินของ สมศ. ตลอดจนการให้สพฐ. ลดการประเมินโรงเรียนในโครงการต่าง ๆ ที่ซ้ำซ้อนลง ซึ่งคาดว่าเมื่อมีการติดตามผลอีกครั้งในปี 2559 นี้ จะยิ่งเห็นผลชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจคืนเวลาการสอนให้ครูเพิ่มขึ้นถึง 50% จึงเชื่อว่าทางกระทรวงจะผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตามข้อเสนอแนะจากเพื่อนครู ทั้งนี้ เวลาที่ได้คืนมานี้ควรมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์เรื่องการเตรียมการสอนและการพัฒนาขีดความสามารถของครูผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ระบบโค้ชชิ่ง เป็นต้น

นายอาคม สมพามา ครูสอนดี จ.ราชบุรี กล่าวว่า ตนเห็นสอดคล้องกันว่าในปีที่ผ่านมากิจกรรมการประเมินโรงเรียนซึ่งไม่ลดลงจากปี 2557 เนื่องจากการประเมินดังกล่าวถือเป็นรางวัลระดับชาติที่ครูและผู้บริหารสถานศึกษาสามารถนำไปใช้ยื่นประกอบวิทยฐานะได้ ซึ่งยังสร้างภาระงานให้กับครู อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อกระทรวงคืนครูสู่ห้องเรียนและได้ปลดล็อกให้ ก.ค.ศ. ยกเลิกการใช้การรับรองรางวัลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินวิทยฐานะแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมาโดยเปลี่ยนเป็นเน้นผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนแทนก็เชื่อว่าจะยิ่งเกิดผลดีในปีการศึกษานี้ 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการ สสค. กล่าวว่า นโยบายคืนครูสู่ห้องเรียนที่มาจากการรับฟังเสียงสะท้อนจากครูผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยตรง ทำให้แก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดโดยสามารถคืนเวลาให้ครูกลับคืนสู่ห้องเรียนได้ถึง 19 วัน ทั้งนี้ รัฐบาลอาจต้องจริงจังกับการยกเลิกการประเมินโดยวัฒนธรรมเอกสารมาเน้นที่ผลของผู้เรียน นอกจากนี้ การที่ครูสะท้อนถึงกิจกรรมอื่นๆที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพราะดึงครูออกไปแข่งขันและเกิดประโยชน์กับผู้เรียนเฉพาะกลุ่มนั้น หากเป็นการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนนอกห้องเรียนซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ก็จะเกิดผลกับเด็กทุกกลุ่ม รวมถึงการฝึกอบรมที่ตรงกับความสนใจของครูและและนำไปใช้ได้จริง ซึ่งการแก้ปัญหาโดยรับฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติงานจริงเชื่อว่าในอีก 3 - 4 ปีข้างหน้าคะแนนคุณภาพและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กไทยจะขยับขึ้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า จากผลสำรวจการใช้เวลาของครู ในกลุ่มประเทศ OECD 50 ประเทศ พบว่า เวลาที่ใช้ในการสอนของครูในแต่ละประเทศมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 694 ชั่วโมงต่อปี หรือคิดเป็น 182 วัน โดยปัจจัยกำหนดเวลาที่ใช้ในการสอนที่สำคัญ คือโครงสร้างหลักสูตรในแต่ละประเทศ ซึ่งพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วครูมีเวลาสอนจริงเฉลี่ย 50% ใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดยตรง เท่ากับ 6.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ย คิดเป็น 34% ของเวลาสอนต่อสัปดาห์ของครู อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ การใช้เวลาของครูที่มีประสิทธิภาพการสอนที่ดี ครูจะใช้เวลาไปกับการเตรียมการสอนถึง 40% ของเวลาที่สอนจริง รวมถึงการใช้เวลาในการทำงานร่วมกับคณะครูในโรงเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และเวลาในการพัฒนาตนเองของครู ดังนั้น จึงควรสนับสนุนกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ส่งผลต่อการสอนมากขึ้น และลดภาระงานที่เป็นกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กลง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น