xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ พัฒนาหุ่นยนต์ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ราคาถูกกว่านำเข้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู เผย ใช้หุ่นยนต์บำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ผลดี คณะแพทย์ - วิศวะ จุฬาฯ จับมือสร้างหุ่นยนต์ฟื้นฟูแล้ว 3 ตัว ราคาถูกกว่านำเข้า เร่งทำวิจัยในมนุษย์คาดเริ่มได้กลางปี 59

วันนี้ (1 มี.ค.) นพ.วสุวัฒน์ กิติสมประยูรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคหลอดเลือดในสมองมักพบในผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ปัจจุบันพบได้ในคนอายุน้อยลง ประมาณ 35 - 40 ปี เนื่องจากลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสามารถพบได้ร้อยละ 2 ของประชากร แต่หากเป็นผู้พิการจะพบได้มากถึงร้อยละ 10 ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดในสมองแตก หรือตีบ ทำให้มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาตครึ่งซีก จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูบริหารกล้ามเนื้อในจุดที่อ่อนแรง ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้นักกายภาพบำบัดเป็นผู้ดูแล แต่จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า การใช้หุ่นยนต์ในการทำกายภาพบำบัดเทียบกับการใช้นักกายภาพบำบัดในเวลาเท่ากัน หุ่นยนต์จะให้การฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยดีกว่า

นพ.วสุวัฒน์ กล่าวว่า ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงได้ร่วมกับ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยทำกายภาพบำบัดผู้ป่วย และมีการทดลองนำร่องในผู้ป่วย 5 ราย โดยใช้หุ่นยนต์ทำกายภาพเป็นเวลา 30 นาที โดยนักกายภาพบำบัดอีก 30 นาที และอีกลักษณะหนึ่งคือการใช้นักกายภาพบำบัด 1 ชั่วโมง หุ่นยนต์อีก 30 นาที เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวช่วงหัวไหล่ ข้อศอก เป็นระยะเวลา 20 ชั่วโมง ผลก็พบว่าผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้ดี แต่ยังไม่สามารถวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ ผู้ป่วยมีความพึงพอใจ และขณะนี้อยู่ระหว่างทำการวิจัยในมนุษย์ กลุ่มตัวอย่าง 60 คน ซึ่งจะใช้เวลาในการวิจัยและเก็บข้อมูลประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเริ่มโครงการได้ภายในกลางปีนี้

ด้าน ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องยนต์ใช้เวลาในการพัฒนาหุ่นยนต์ประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยใช้งบของ รพ.จุฬาลงกรณ์ เน้นระบบความปลอดภัยของตัวเครื่องกับผู้ป่วยเป็นสำคัญ ส่วนวิธีการบำบัดสามารถควบคุมได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยละคนที่มีความแตกต่างกันได้ และมีเกมให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวตาม โดยยึดที่พละกำลังของผู้ป่วยเป็นหลักก่อน หากแรงไม่ถึงหุ่นยนต์ถึงจะช่วยออกแรงส่งให้การเคลื่อนไหวครั้งนั้นประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งจะช่วยเรื่องสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้รู้สึกภูมิใจว่าสามารถเคลื่อนไหวได้ และมีความต้องการในการบำบัดต่อไป ขณะนี้ผลิตหุ่นยนต์แล้ว 3 ตัว เฉลี่ยตัวละประมาณ 2 - 3 ล้านบาท แต่ถือว่าราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคาประมาณ 4 ล้านบาท

“หุ่นยนต์ของไทยมีข้อดี คือ มีการใช้มอเตอร์ตัวเล็กกว่า อยู่ที่ 90 วัตต์ ตรงนี้กำลังจะมีการไปจดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ มีการเสริมบาลานซ์ทำให้หุ่นยนต์สามารถใช้งานได้นานทั้งวันโดยที่ไม่ร้อน อย่างไรก็ตาม ราคาเครื่องมือที่ใช้จริง ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท แต่ที่ใช้งบเยอะตอนนี้เนื่องจากเป็นการพัฒนาที่มีการลองผิดลองถูก เพราะฉะนั้นในอนาคตจะสามารถผลิตได้ในราคาที่ถูกลง และอยู่ในวิสัยที่สามารถผลิตให้โรงพยาบาลไว้ใช้ฟรีได้ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบาย” ดร.วิบูลย์ กล่าว


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น