กรมควบคุมโรค เผย ลาวให้ “วัคซีนโปลิโอ” ไม่ครอบคลุม ส่งผลเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนจากที่อ่อนฤทธิ์ พัฒนากลายพันธุ์จนรุนแรงก่อโรค เหตุเข้าออกร่างกายคนไร้ภูมิคุ้มกันหลายครั้ง ชี้ให้วัคซีนครอบคลุมช่วยตัดวงจรได้ คุมเข้ม 5 จังหวัดชายแดนไทย - ลาว เฝ้าระวังผู้ป่วยข้ามแดน
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีประเทศลาวประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข หลังพบเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ ซึ่งผู้ที่จะเดินทางเข้าออกประเทศลาวต้องได้รับวัคซีนป้องกันโปลิโอก่อน ว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนนั้น คาดว่า เกิดจากการให้วัคซีนได้ไม่ครอบคลุม อย่างของประเทศไทยตั้งเป้าว่าต้องให้วัคซีนครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งภาพรวมในระดับประเทศ และระดับจังหวัดนั้น ไทยสามารถทำได้ แต่ประเทศลาวอาจมีความครอบคลุมที่ต่ำกว่าไทยมาก ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโดยรวมต่ำไปด้วย ทำให้เชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนซึ่งเป็นเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์ พัฒนาจนสามารถก่อโรคได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาในลาวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ ต.ค. 2558
“การที่ลาวประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ถือว่ามีความตระหนักในโรคนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยถือว่ายังเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะแม้ประเทศไทยจะปลอดโรคโปลิโอ แต่ก็มีความเสี่ยง เนื่องจากมีชายแดนติดกับประเทศลาว จึงได้ให้จังหวัดเสี่ยง 5 จังหวัดที่ติดชายแดนลางเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด พื้นที่ระดับหมู่บ้านใดที่ให้วัคซีนไม่ครอบคลุมร้อยละ 90 ก็ต้องให้วัคซีนให้ครอบคลุม รวมถึงเฝ้าระวังผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน และให้โรงพยาบาลติดชายแดนไทย - ลาว เฝ้าระวังคนลาวที่เดินทางข้ามมารักษา เพราะแม้จะมีการออกประกาศภาวะฉุกเฉินให้ต้องรับวัคซีนก่อนเข้าออกประเทศ แต่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าคนที่เดินทางข้ามมารักษาตัวในไทยนั้นเข้ามาด้วยวิธีใด ก็ขอให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด” อธิบดี คร. กล่าว
นพ.อำนวย กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนไปใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ได้เริ่มใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2558 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย 3 สายพันธุ์ ฉีดเพื่อให้เป็นการป้องกันแบบพื้นฐาน จากนั้นช่วง เม.ย. 2559 จะเริ่มการใช้วัคซีนโปลิโอแบบหยอดชนิด 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ที่ 1 และ 3 แทนวัคซีนเดิมที่เป็นแบบ 3 สายพันธุ์ เพื่อกำจัดเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ที่ 2 คาดว่า สามารถดำเนินการได้ไม่มีปัญหาอะไร
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนโปลิโอชนิดหยอดรับประทานเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนแรง ทำให้ไม่ก่อโรค โดยคนที่รับวัคซีนไปแล้วเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนที่อ่อนแรงไม่ก่อโรคนี้ก็จะเข้าไปแบ่งตัวในลำไส้ ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น จากนั้นเมื่อขับถ่ายออกมาก็จะมีเชื้อไวรัสโปลิโอออกมาในสภาพแวดล้อมด้วย ซึ่งหากมีสุขอนามัยที่ไม่ดีเชื้อมีการปนเปื้อนน้ำ หรืออาหาร ก็มีโอกาสที่เชื้ออ่อนฤทธิ์ตัวนี้จะเข้าไปในร่างกายของคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ถือเป็นข้อดี เพราะเหมือนเป็นการได้รับวัคซีนทางอ้อม แต่เชื้ออ่อนฤทธิ์เมื่อวนเวียนในสภาพแวดล้อมและเข้าสู่ร่างกายคนหลาย ๆ ครั้งก็จะทำให้เชื้อโปลิโออ่อนฤทธิ์พัฒนาขึ้น หรือกลายพันธุ์จนมีความรุนแรงที่ก่อโรคได้ ดังนั้น ประเทศที่ให้วัคซีนไม่ครอบคลุมเพียงพอก็จะเกิดปัญหาได้ แต่หากให้วัคซีนครอบคลุมเพียงพอ เชื้อโปลิโอก็จะไม่เข้าไปสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อนี้อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ไม่นานก็จะตายไปในที่สุด ซึ่งประเทศไทยมีการให้วัคซีนมานานและครอบคลุมสูงมาก สุขอนามัยก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก จึงไม่เกิดเหตุการณ์เชื้อโปลิโอสายพันธุวัคซีนกลายพันธุ์
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่