เอเอฟพี - องค์การอนามัยโลกในวันพุธ (17 ก.พ.) เผยแพร่แผนตอบสนองขั้นต้นต่อการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา พร้อมร้องขอเงินบริจาค 56 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,000 ล้านบาท) สำหรับปฏิบัติการนี้
การแพร่ระเบิดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของไวรัสชนิดนี้ที่ถูกพบครั้งแรกในยูกันดาในปี 1947 ได้กลายเป็นความกังวลระดับนานาชาติ ด้วยเวลานี้มีข้อสงสัยอย่างหนักแน่นว่ามันก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท 2 อย่าง นั่นคือภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด และกลุ่มอาการกีแยง-บาร์เร (โรคแพ้ภูมิตัวเอง)
หน่วยด้านงานสาธารณสุขของสหประชาชาติบอกว่าต้องการเงินทุนจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สำหรับแผนตอบสนองของพวกเขา และอีก 31 ล้านดอลลาร์สำหรับสนับสนุนการทำงานของพันธมิตรหลักต่างๆ
“ยุทธศาสตร์คือพุ่งเป้าไปที่การระดมกำลังและประสานงานกับพันธมิตร ทั้งด้านผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรเพื่อช่วยประเทศต่างๆเสริมความระแวดระวังไวรัสซิกาและภาวะผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับมัน” องค์การอนามัยโลกระบุในถ้อยแถลง
ถ้อยแถลงบอกต่อว่า ส่วนเป้าหมายลำดับต้นๆ อื่นๆ คือ ควบคุมประชากรยุงสายพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นพาหะของซิกา เช่นเดียวกับความเสี่ยงของการติดต่อ ออกคำแนะนำและมาตรการป้องกันต่างๆ นานา ให้การรักษาด้านการแพทย์แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและดำเนินการวิจัยอย่างรวดเร็วเพื่อพัฒนาวัคซีน
การแพร่ระบาดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกา โดยมีบราซิลคือประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด
ขณะที่ตัวมันเองมันก่อให้เกิดอาการคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดอ่อนๆ ในคนส่วนใหญ่ แต่ซิกาตกเป็นที่ต้องสงสัยอย่างหนักแน่นว่ามันมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะพิการแต่กำเนิด มีขนาดศีรษะที่เล็กผิดปกติของทารกที่เกิดกับมารดาที่ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ และอาการอาจลุกลามเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบไม่บ่อยนัก ซึ่งเรียกว่า กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ที่ก่อความเสียหายทางสมองหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต
ไวรัสซิกายังเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือวิธีการรักษาที่แน่ชัด ขณะที่คาดหมายว่า 80% ของผู้ติดเชื้อและเป็นพาหะจะไม่แสดงอาการใดๆ
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกเพื่อต่อสู้กับไวรัสซิกาที่กำลังแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง