xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านรวมตัวร้องดีเอสไอ บ.เหมืองแร่ปล่อยสารไซยาไนด์ ทำคนในชุมชนดับ 54 ราย (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR online - ชาวบ้านจังหวัดพิษณุโลก-พิจิตร-เพชรบูรณ์ ร้อง “ดีเอสไอ” ได้รับผลกระทบจากสารไซยาไนด์ของเหมืองทอง “อัครา” วอนให้รับเป็นคดีพิเศษ หลังมีกลุ่มชาวบ้านในชุมชนตายแล้ว 54 ราย ด้าน “พ.ต.ท.ประวุธ” ผบช.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เตรียมส่งทีมตรวจสอบก่อนรับพิจารณาเป็นคดีพิเศษ



วันนี้ (19 ม.ค.) เวลา 09.30 น. ห้องส่วนบริการประชาชน อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งวัฒนะ นางธนัญธิดา ลิ้มนนทกุล พร้อมตัวแทนชาวบ้าน เดินทางเข้าร้องเรียนต่อ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม นายพิเชฎฐ์ ศรีทองนุ่น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีมีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์

นางธนัญธิดากล่าวว่า บริษัทดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ต่อมาได้มีการต่อเติมโรงงานส่วนขยายเพื่อเพิ่มการผลิต โดยทางบริษัทได้ทำก่อนขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม และชาวบ้านไม่ทราบทำให้มีการไปฟ้องร้องที่ศาลจังหวัดพิจิตรเพื่อเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์ชี้ว่ามีมูลและเรื่องระหว่างอยู่ในกระบวนการ

นางธนัญธิดากล่าวอีกว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับเหมืองทองได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากบ่อทิ้งกากแร่แห่งที่ 2 ที่มีสารไซยาไนด์ปนเปื้อน เมื่อถูกความร้อนจะกลายเป็นมลพิษ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชุมชนเพียง 300 เมตรเท่านั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพของชาวบ้านเมื่อสูดดมเข้าร่างกายในปริมาณมากจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและแน่นหน้าอก

“หลังจากชาวบ้านเคยมาร้องเรียนที่ดีเอสไอตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 2558 จนถึงวันนี้มีคนตายไปแล้ว 54 ศพจากสารไซยาไนด์ การเดินทางมาวันนี้เพื่อขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากว่าไม่ต้องการสูญเสียคนในครอบครัวอีก นอกจากนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้นำศพผู้เสียชีวิต 2 รายไปชันสูตรหาสาเหตุการตายที่แท้จริงเพื่อนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาล แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล”

พ.ต.ท.ประวุธเปิดเผยว่า ทางดีเอสไอได้รับเรื่องเป็นคดีพิเศษพร้อมจะตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองทองทำให้มีฝุ่นหรือสารพิษต่างๆ เข้ามาในชุมชน ซึ่งดีเอสไอเคยตรวจสอบมาแล้วครั้งหนึ่งพบมีข้อมูลเบื้องต้น โดยการตรวจสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน 1. ส่วนกิจการภายในเหมืองทอง เช่น ถนนสาธารณะ ศาลาประชาคม และโรงงานส่วนขยาย จะพิจารณารับเป็นคดีก่อน 2. ส่วนเรื่องผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลาเพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเป็นข้อมูลเชิงวิชาการต้องตรวจเทียบเคียงในหลายพื้นที่ และดูจากสภาพร่างกายของคนในแต่ละพื้นที่นำมาวิเคราะห์ อาทิ การตรวจเลือดคนในชุมชน เพื่อเปรียบเทียบเนื่องจากบริเวณโดยรอบพื้นที่เหมืองแร่ดังกล่าวไม่มีการทำฐานข้อมูลชุมชนก่อนจะทำเหมือง จึงต้องทำมีการเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่มีโครงสร้างทางธรณีวิทยาคล้ายกันซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เลือกพื้นที่เอาไว้เรียบร้อยแล้ว


























กำลังโหลดความคิดเห็น