xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะตั้งศูนย์วัคซีนอาเซียน แก้ปัญหาให้วัคซีนไม่ครอบคลุม ขนส่งล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญสุขภาวะโลก แนะตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดและวัคซีนอาเซียน ช่วยยกระดับมาตรฐาน การบริหารจัดการวัคซีนกลุ่มประเทศอาเซียน แก้ปัญหาการสั่งซื้อ ขนส่งวัคซีนล่าช้า ให้วัคซีนไม่ครอบคลุม ย้ำรับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันก่อนเกิดโรคระบาดสำคัญ เหตุคนยังไม่อยากรับวัคซีน เพราะกลัวผลข้างเคียง ค่าใช้จ่าย ระบุหน่วยงานสาธารณสุขต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง กระตุ้นคนหันมารับวัคซีน

ดร.แอนดริว คอร์วิน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะโลก วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในการผลิตวัคซีน และมีการให้วัคซีนที่ครอบคลุมทั่วถึง แต่ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เช่น พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นั้น พบว่า ประชากรยังเข้าไม่ถึงวัคซีนเท่าที่ควร และยังไม่มีระบบการเฝ้าระวังโรค การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะทำให้มีคนเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศมากขึ้น แม้จะต้องเฝ้าระวังโรคที่จะเข้ามาในประเทศ แต่ในทางกลับกันถือเป็นโอกาสดีหากเกิดความร่วมมือในระดับประเทศ ในการยกระดับเรื่องวัคซีนของแต่ละประเทศให้เท่าเทียมกัน ซึ่งแต่ละประเทศมีจุดแข็ง จุดอ่อนที่ต่างกันไป ก็จะช่วยให้การบริหารจัดการเรื่องวัคซีนในภาพรวมของภูมิภาคอาเซียนดีขึ้น อย่างประเทศไทยถือว่ามีจุดแข็งในเรื่องของวิชาการ ความรู้ต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านได้

ดร.แอนดริว กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการรับวัคซีนนั้นคือ ต่อให้ภาครัฐมีระบบในการเอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงอย่างไร แต่การตัดสินใจที่จะเข้ารับวัคซีนหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของประชาชนตัดสินใจเอง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันนั้นยังน้อยอยู่ โดยการรับทราบข้อมูลของการรับวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมารับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งหากมีการให้ข้อมูลรณรงค์การรับวัคซีนตามฤดูกาล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก่อนการระบาดนั้นก็จะช่วยลดปัญหาลงไปได้ ที่เห็นชัดเจนคือกรณีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ต้องรอให้มีการระบาดก่อนถึงมีการฉีดวัคซีน และค่อยมาคิดถึงการผลิตวัคซีนใช้เองภายในประเทศ ซึ่งต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง เช่น ความรุนแรงของโรค ผลกระทบของการระบาดอยู่ในประชากรกลุ่มไหน มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน นอกจากนี้ อีกปัญหาของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยนั้นคือการความล่าช้าในการส่งวัคซีน อย่างไข้หวัดใหญ่ 2009 นั้นเกิดขึ้นในช่วง เม.ย.- พ.ค. 2009 แต่กว่าจะได้รับวัคซีนในการฉีดป้องกันนั้น ประเทศไทยได้รับวัคซีนเมื่อ ม.ค. 2010 ขณะที่กัมพูชาได้รับเมื่อ เม.ย. 2010 ซึ่งถือว่าล่าช้ามาก

“ผมมองว่ารัฐบาลควรจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรคระบาดและวัคซีนแห่งอาเซียน เพื่อเป็นศูนย์กลางทั้งการศึกษาวิจัย พัฒนาวัคซีนร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน การผลิตวัคซีน และกระจายวัคซีนสู่กลุ่มประเทศที่ต้องการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศเช่นกัน และเฝ้าระวังโรคระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาค นอกจากนี้ ต้องรณรงค์สร้างความตระหนักในการให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันด้วย เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคระบาด เพราะต้องเข้าใจว่า ประชาชนบางส่วนยังมีความเชื่อและความกังวลในเรื่องของผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน ค่าใช้จ่าย และขาดความตระหนักว่ายังไม่เกิดโรคระบาดจึงยังไม่ฉีด ทั้งที่หากรับวัคซีนก่อนก็สามารถป้องกันได้ ซึ่งทุกประเทศล้วนมีประชากรกลุ่มที่มีความคิดเช่นนี้อยู่ ซึ่งการให้ข้อมูลผ่านสื่อจะช่วยได้มาก เพราะหากมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องก็จะช่วยให้คนหันมาสนใจรับวัคซีนมากขึ้น เช่นเดียวกันหากมีการให้ข้อมูลผ่านสื่อมาก ๆ ว่า การรับวัคซีนมีผลกระทบก็จะทำให้คนมีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับวัคซีนสูงถึง 7 เท่า” ดร.แอนดริว กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น