ระวังลูกน้อยป่วยโรคไอพีดี ต้นเหตุ “เยื่อหุ้มสมองอักเสบ - ติดเชื้อในกระแสเลือด - ปอดบวม” รุนแรงอาจถึงตาย เผยเกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส แนะพาฉีดวัคซีนป้องกัน สอนลูกมีสุขอนามัย ห่วงพาลูกอายุต่ำกว่า 2 ขวบไปฝากเลี้ยง เสี่ยงกว่าเด็กปกติ 2 - 3 เท่า ยิ่งมีโรคประจำตัวเสี่ยงสูงถึง 50 เท่า
วันนี้ (17 ก.พ.) พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด รพ.บีเอ็นเอช และอนุกรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าวโครงการคำสัญญาจากแม่สู่ลูก “สัญชาตญาณของแม่ สัญชาตญาณแห่งการปกป้อง” ว่า เชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องคอของคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ทำให้เสี่ยงเป็นโรคไอพีดี (IPD) หรือโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสแบบรุนแรงและแพร่กระจายได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของ 3 โรค คือ 1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 2. ติดเชื้อในกระแสเลือด และ 3. ปอดบวม โดยกรณีการติดเชื้อในกระแสเลือดจะทำให้เด็กมีภาวะไข้สูง หายใจลำบาก ส่วนภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบจะทำหนองในเยื่อหุ้มปอด ฝีในปอด อาจจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจ หัวใจทำงานผิดปกติ จนเสียชีวิตได้ หรือถ้าหากเชื้อเข้าสู่สมองจะทำให้เด็กชักจนเสียชีวิตได้ บางรายหายได้ แต่ก็จะทำให้พิการทางสมอง
พญ.สุธีรา กล่าว่า การป้องกันโรคเหล่านี้ใช้หลักการเดียวกันกับโรคหวัดทั่วไปคือ สอนลูกให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือหลังสัมผัสของเล่น ก่อนรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับคนป่วย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ใช้ช้อนกลาง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพราะควันบุหรี่ทำให้ระบบการหายใจของเด็กผิดปกติ เลี่ยงการอยู่ในที่คนแออัด เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ลูกด้วยวัคซีน เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเป็นไข้ต้องป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โดยการสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ ควรให้ลูกรับประทานนมแม่เพราะมีภูมิต้านทานโรค ซึ่งมีการศึกษาพบว่าเด็กที่รับประทานนมแม่เมื่อป่วยขึ้นมาก็จะหายได้เร็ว โรคแทรกซ้อนน้อย เมื่อไปรับวัคซีนร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันโรคสูง
“เมื่อปี 2558 ทั่วโลกมีเด็กเสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนประมาณ 900,000 คน สำหรับ 3 โรคนี้มีเด็กทั่วโลกตายเป็นล้านคนต่อปี อัตราการเสียชีวิตจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอยู่ที่ร้อยละ 50 ในประเทศที่มีการรักษาที่ดีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 20 อัตาการเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่ที่ร้อยละ 20 และอัตราการเสียชีวิตจากภาวะปอดบวมร้อยละ 5 - 6 แม้จะน้อยแต่ถ้าโรคลุกลามก็จำทำให้เชื้อขึ้นสมองจนมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน สำหรับอัตราการเกิดโรคในเด็กไทยอยู่ที่ 40 ต่อแสนประชากรเด็ก ซึ่งในต่างประเทศหลายๆ ประเทศได้บรรจุวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้ในวัคซีนพื้นฐานที่เด็ก ๆ ควรได้รับแล้ว แต่เมืองไทยยังไม่ให้ เพราะเห็นว่าอัตราการเกิดโรคยังน้อย และวัคซีนมีราคาแพง จึงให้เป็นวัคซีนเสริม” พญ.สุธีรา กล่าว
พญ.สุธีรา กล่าวว่า การที่ส่งลูกไปอยู่ในสถานรับลี้ยงเด็กยิ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ มากกว่าเลี้ยงเอง 2 - 3 เท่า คนที่มีโรคประจำตัว อาทิ ปอดไม่แข็งแรง โรคเลือด เบาหวาน หอบหืด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเสี่ยงเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าเด็กปกติ 20 - 50 เท่า ดังนั้น กรณีที่นำลูกไปฝากสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพิ่มเติมจากการฉีดวัคซีนพื้นฐานด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่