xs
xsm
sm
md
lg

ไข้หวัดใหญ่...ดูแลสุขภาพอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
ในฤดูหนาวโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพมากที่สุด โดยโรคนี้พบได้ทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ หรือมีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืดอยู่เดิม หรือมีโรคเรื้อรังที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ เช่น ไตวาย เบาหวาน โรคหัวใจ และผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น ได้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่อาจมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน คือ ปอดอักเสบติดเชื้อจากไข้หวัดใหญ่เองหรือจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้มาก
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะคล้าย ๆ กับโรคไข้ชนิดอื่น ๆ คือ มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ระคายคอ แต่ถ้ามีไข้มากหรือปวดเมื่อยตามตัวมากต้องระวังว่าอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ โดยทั่วไปจะหายเองภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือให้การรักษาตามอาการ คือช่วงที่มีไข้ก็รับประทานยาลดไข้พาราเซตตามอล เช็ดตัวบ่อย ๆ พักผ่อนมาก ๆ ไม่ตรากตำทำงานหนัก ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้ายู่ต้องงด และรับประทานยาลดอาการต่าง ๆ เช่น ถ้าไอก็รับประทานยาแก้ไอ มีน้ำมูกก็รับประทานยาลดน้ำมูก เป็นต้น
ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดไข้แอสไพริน เนื่องจากอาจเกิดตับวายและสมองอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น หอบเหนื่อย ซึม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุซึ่งอาจมีไข้ อ่อนเพลียโดยอาการไม่ชัด แล้วมีอาการซึม สับสน ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง อาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาการดังกล่าวจะพบเป็นส่วนน้อย สำหรับยาฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะมักไม่ต้องใช้ เพราะโรคจะหายได้เอง จึงใช้เฉพาะในรายที่อาการรุนแรงเท่านั้น
สำหรับความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดเฉพาะในรายที่มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนจากโรคสูง โดยควรฉีดวัคซีนก่อนถึงช่วงที่จะมีการระบาดของโรค เนื่องจากเมื่อฉีดไปแล้ว 2 สัปดาห์ ร่างกายจะเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้ 1 ปี ฉะนั้นต้องฉีดปีละครั้ง สำหรับกรณีที่ควรฉีดวัคซีน ได้แก่
1. ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปี
2. ผู้ที่โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆ เช่นโรคไต โรคเบาหวาน
4. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันด้วย
5. เด็กอายุ 6 เดือน - 8 ปี ที่รับประทานยาแอสไพรินเป็นประจำ เนื่องจากถ้าป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจเกิดตับอักเสบและสมองอักเสบได้
6. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3
7. ผู้ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือชุมชน เช่น แพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น
การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าสุขภาพดีจะลดโอกาสการเจ็บป่วยลง โดยทั่วไปควรปฏิบัติ ดังนี้
1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอและครบหมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป
2. อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในที่แออัดโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่
3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติดต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่ และไม่ควรใช้ของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน
5. ล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากอาจไปสัมผัสเชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู แก้วน้ำ เป็นต้น แล้วเผลอไปสัมผัสบริเวณหน้าได้ โดยล้างมือด้วยสบู่ธรรมดา 15-20 วินาที หรือใช้น้ำยาล้างมืออื่น ๆ
6. รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในที่ที่หนาวมากควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย
7. หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอจาม ไม่คลุกคลีกับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ
8. สำหรับปัญหาเรื่องผิวหนัง เราควรให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ถ้าอากาศหนาวมาก ไม่อาบน้ำนาน ๆ ในที่ที่หนาวมาก อาจไม่ต้องอาบน้ำวันละสองครั้งเหมือนฤดูอื่น หลังอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว หลังจากเช็ดตัวหมาด ๆ ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ควรทาด้วยลิปสติกมันและไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อย ๆ
ทุกคนจึงควรหมั่นคอยดูแลสุขภาพให้ดีตลอดเวลาเพราะจะเป็นการป้องกันโรคที่คุ้มค่าที่สุด และไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ หากเมื่อเราป่วยอาจเป็นมากกว่าคนที่มีพื้นฐานสุขภาพที่ดี สำหรับผู้ที่อายุยังไม่มาก ก็ควรดูแลสุขภาพให้ดีเช่นเดียวกัน เพราะสุขภาพที่ดีในตอนอายุยังน้อยจะเป็นเกราะป้องกันโรคตอนอายุมากขึ้น
***********************
กิจกรรมดี ๆ ที่ศิริราช
จัดงานสัปดาห์วันมะเร็งโลก “วิถีไทย ใส่ใจผู้สูงวัย ห่างไกลมะเร็ง” หัวเรื่อง “เปลี่ยนภาระเป็นพลัง” ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมงาน (ฟรี) 2-5 ก.พ. 59 เวลา 10.00 -14.00 น. ณ โถงอาคาร ๑๐๐ สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถานวิทยามะเร็งศิริราช โทร. 0 2419 4471-2, 0 2419 6793
กำลังโหลดความคิดเห็น