xs
xsm
sm
md
lg

อ้อน วธ.แก้ กม.จดแจ้งการพิมพ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะอนุกรรมาธิการ เสนอ วธ. แก้กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ ปลดล็อกให้ผู้ประกอบการจดแจ้งที่วัฒนธรรมจังหวัด พร้อมกำหนดโทษเอาผิดผู้จดแจ้งพิมพ์ไม่ตรงตามที่จดแจ้ง เช่น จดแจ้งพิมพ์หนังสือกีฬาแต่พิมพ์โป๊เปลือย

วันนี้ (25 ก.พ.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมี นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ประธานอนุกรรมาธิการ เข้าหารือเรื่อง “แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550” ว่า วันนี้คณะอนุกรรมาธิการ เสนอ วธ. 2 ในเรื่อง คือ 1. การแก้ไข พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ เพื่อให้การดำเนินการคล่องตัวมากขึ้น 2. ปฏิรูปขบวนการทำงาน ตลอดจนภาพรวมการบริหารจัดการจดแจ้งการพิมพ์ให้มีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกและรวดเร็ว

ทั้งนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการได้สรุปข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนและสื่อต่าง ๆ ที่ต้องการให้ วธ. แก้ไขเร่งด่วน 3 เรื่อง เรื่องแรก แก้ไขความไม่สะดวกเรื่องการจดแจ้งการพิมพ์ในต่างจังหวัด เพราะกฏหมายกำหนดให้จดแจ้งได้เฉพาะที่สำนักศิลปากรเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมี 15 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด ผู้ประกอบการที่อยู่ในจังหวัดที่ไม่มีสำนักศิลปากรตั้งอยู่ ต้องเสียเวลาเดินทางมายังจังหวัดที่มีสำนักศิลปากร ดังนั้น จึงได้เสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ วธ. จะให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ดำเนินการจดแจ้งการพิมพ์ในจังหวัดที่ไม่มีสำนักศิลปากร

เรื่องที่ 2 ให้ วธ. ติดตามผู้ประกอบการที่มีขอจดแจ้งการพิมพ์อย่างใกล้ชิดว่าได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่มาขอจดแจ้งหรือไม่ เช่น การจัดส่งหนังสือที่พิมพ์ให้สำนักหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์หนังสือตามหัวข้อที่ขอจดแจ้งจริงหรือไม่ จดแจ้งโดยไม่พิมพ์ก็มี ซึ่งหลายครั้งพบว่าขอจดแจ้งการพิมพ์หนังสือกีฬา แต่ไปพิมพ์หนังสือโป้เปลือย และเรื่องที่ 3 ขอให้กรมศิลปากรจัดทำฐานข้อมูลและหมวดหมู่ในการจดแจ้งการพิมพ์ ระบุประเภทหนังสือ เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบติดตามและเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในการลงทุนทำหนังสือที่ไม่ซ้ำซ้อน

รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า วธ. รับข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการไว้ และเห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วมทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยมี ปลัด วธ. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาจัดทำรายละเอียดการแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน พร้อมกันนี้มอบให้คณะทำงานพิจารณาครอบคลุมไปถึงสื่ออื่น ๆ ด้วย ทั้งสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสื่อภาพยนตร์และวีดิทัศน์ด้วย

“ที่ผ่านมา วธ. ยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษการขอจดแจ้งการพิมพ์แล้วไปดำเนินการผิดวัตถุประสงค์ อย่างจดหนังสือกีฬาแต่ผลิตหนังสือโป๊เปลือย จึงอาศัยกฎหมายฉบับอื่นแทน ดังนั้น วธ. จะพิจารณาแก้ไขให้มีบทลงโทษไว้ใน พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ เพื่อให้กฎหมายรัดกุมยิ่งขึ้น” นายวีระ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น