xs
xsm
sm
md
lg

สปท.เล็งเสนอใช้ ม.44 ฟันสื่อออนไลน์กระทบมั่นคง - ให้ นสพ.อยู่ใต้ตำรวจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - กรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ สปท.ห่วงสื่อออนไลน์มีอิทธิพลสูง เหตุเข้าถึงเร็ว คนไทยใช้มากติดอันดับโลก จ่อเสนอ คสช.ใช้มาตรา 44 จัดการสื่อออนไลน์ที่กระทบความมั่นคง-ล่วงละเมิดสถาบันฯ แย้มแก้กฎหมายให้สื่อสิ่งพิมพ์มาอยู่ในความดูแลของตำรวจ

วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ปิยะ สอนตระกูล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ให้การต้อนรับ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นางประภา เหตระกูล รองประธานกรรมาธิการ สปท. และ พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองประธานกรรมาธิการ นำคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อออนไลน์ คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ และคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านวิทยุกระจายเสียง ด้านวิทยุโทรทัศน์ และด้านโทรคมนาคม และคณะ 60 คน พร้อมหน่วยในสังกัด ตร.ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สยศ.ตร., สงป., กมค., บช.ก., บช.ส., สทส., บช.ศ., ตท. และ สท.เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปด้านสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม รวมทั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน และคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เยี่ยมชมศึกษาการปฏิบัติงานของ ศปก.ตร.ด้วย

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวภายหลังว่า การประชุมในวันนี้เป็นการหารือกันเพื่อหาแนวทางและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปสื่อเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยมีกรอบทำงานเป็น 3 ด้าน คือ ด้านสื่อสิงพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และด้านสื่อออนไลน์ โดยเน้นการกำกับดูแลที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไม่ใช่การควบคุม ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ และสถาบันหลักของชาติ โดยต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือประชาชน โดยยอมรับว่าสื่อที่กำลังมีปัญหากระทบต่อสังคม คือ สื่อออนไลน์ เพราะผู้ผลิตสื่อสามารถส่งข้อมูลถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ที่เป็นสื่อหลัก ซึ่งยังมีระบบการคัดกรองอยู่ และเป็นปัญหาหนักที่ต้องยอมรับว่าแก้ไขยากของ สปท.ชุดนี้ ในฐานะอนุกรรมการด้านการปฎิรูปสื่อออนไลน์ ยอมรับว่าสื่อออนไลน์จากการเข้าไปดู สื่อชนิดนี้ในประเทศไทย เป็นปัญหาหลักที่ต้องเข้าไปแก้โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ผู้ให้บริการอยู่ในต่างประเทศ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทิวบ์ ซึ่งการเข้าไปกำกับดูแลทำได้ยาก

พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ปัญหาที่พบในสื่ออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างมาก และพบมีการส่งข้อมูลผ่านสื่ออนไลน์ในลักษณะกระทบสังคม กระทบความมั่นคง กระทบสถาบันฯ ยุยงปลุกปั่น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข บางเรื่อง สปท.พิจารณาว่าควรแก้ไขโดยด่วน เร็วๆ นี้จะมีการเสนอขอใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อระงับยับยั้งสื่อออนไลน์บางสื่อที่พบว่ากระทบต่อความมั่นคง และสถาบันฯ ขณะที่ในวันที่ 14 มกราคม 2559 ตัวแทนจากบริษัทกูเกิลประเทศไทยจะขอเข้าพบ กมธ.ชุดนี้ ขณะที่ในวันที่ 21 มกราคม 2559 รองประธานบริษัทกูเกิลก็จะเข้าพบ เพื่อร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้เหตุที่ กมธ.ชุดนี้ให้ความสำคัญ กับสื่ออนไลน์ เป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเพราะการส่งข้อมูลที่กระทบสังคมอย่างรวดเร็ว อีกส่วนหนึ่งคือการขยายตัวของสื่อประเภทนี้ โดยมีข้อมูลพบว่า ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตของผู้บริโภคสื่อออนไลน์มากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก มีผู้ใช้แอปพลิเคชันไลน์ 32 ล้านคน ใช้เฟซบุ๊ก 34 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นอัตราเติบโต ที่ สปท.เล็งเห็นว่าควรเร่งกำกับดูแล

ประธาน กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ กล่าวอีกว่า ย้ำว่าการทำงานของ สปท.ไม่ใช้เพื่อควบคุม หลักการคือให้สื่อยังมีเสรีภาพ สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยไม่มีเงื่อนของทุน การเมือง หรืออื่น ๆ มาครอบงำ อย่างไรก็ตามในกฎหมายกำลังคุยกันว่า เห็นควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม เข้ามากำกับดูแลสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เป็นเพียงการคุยกันเบื้องต้น ในอนาคตต้องคุยกันว่าควรมีการออกแบบหน่วยงานขึ้นมาดูแลกำกับสื่อมวลชนหรือไม่ เพราะในอนาคต กระทรวงไอซีทีที่กำกับดูแลสื่อออนไลน์จะปรับโฉมเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยหน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ จะดูแลทั้งในแง่คุณภาพ เสรีภาพ และการพัฒนาศักยภาพ ร่วมทั้งสวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ทั้งนี้ ใน กมธ.ยังคุยกันคือการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง

นางประภา ศรีนวลนัด รองประธานกรรมาธิการ สปท.กล่าวว่า สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล ซึ่งเราเห็นว่าเดิมทีสื่อสิ่งพิมพ์ขึ้นอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ว่าได้ถูกนำไปใช้เป็นของกระทรวงวัฒนธรรม และเราเห็นว่ากระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้มีเวลาลงมาดูแลเนื่องจากมีกิจกรรมอื่นๆ ที่เยอะการที่เราอยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมมือเพราะว่า เป็นประโยชน์การจดแจ้งหรือด้านอื่นๆ ขณะนี้เรากำลังพยายามแก้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ในขณะเดียวกันสภาปฎิรูปฯ ก็ได้ทำเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ การไม่แทรกแซงสื่อ และการให้ความร่วมมือให้มีเสรีภาพกับผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน เราพยายามจะทำให้สื่อสารมวลชนทั่วประเทศมีสิ่งรองรับที่ดี รวมทั้งมีการพยายามอบรมสื่อเพื่อให้ก้าวทันโลก เพราะมีสื่อเพิ่มขึ้นมามาก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ทันที ซึ่งนำเนื้อความจากหนังสือพิมพ์ไปใช้ เพราะฉะนั้น หากอยากให้เยาวชนรักการอ่านได้ประโยชน์ก็ต้องมีสื่อที่ดีด้วย ทั้งนี้ก็ต้องฝากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำไปคิดว่าอยากได้อำนาจนี้กลับคืนมาหรือไม่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น