xs
xsm
sm
md
lg

ชงม.44บล๊อคไลน์-เฟซฯ-กระทบมั่นคง-ละเมิดสถาบันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ สปท.ตบเท้าดูงาน สตช. ก่อนหารือแนวทางปฏิรูปสื่อ แย้มชง คสช.ใช้ ม.44 “ระงับ-ยับยั้ง” สื่อออนไลน์ เล็งพวกที่ผู้ประกอบการอยู่เมืองนอก “เฟซบุ๊ก-ไลน์-ทวิตเตอร์-ยูทิวป์” เข้าข่ายหมด อ้างกระทบความมั่นคง-ละเมิดสถาบันฯ เผยกำลังหาช่องแก้ กม.ดัน “สื่อสิ่งพิมพ์” ให้ตำรวจดูแลเหมือนเดิม “บิ๊กเดลินิวส์” เห็นดีด้วย แต่ต้องรอ สตช.ให้คำตอบ

วานนี้ (24 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นำคณะ กมธ.เข้าเยี่ยมชมศึกษาการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พร้อมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปด้านสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม กับผู้แทนหน่วยในสังกัด สตช.ที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.ต.ท.ปิยะ สอนตระกูล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ให้การต้อนรับ

** เล็งชงใช้ ม.44 คุมสื่อโซเชี่ยล

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวภายหลังการหารือว่า เป็นการหารือกันเพื่อหาแนวทางและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปสื่อเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยมีกรอบทำงานเป็น 3 ด้าน คือ ด้านสื่อสิงพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และด้านสื่อออนไลน์ โดยเน้นการกำกับดูแลที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ไม่ใช่การควบคุม ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ และสถาบันหลักของชาติ โดยต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือประชาชน ทั้งนี้สื่อที่กำลังมีปัญหากระทบต่อสังคม คือ สื่อออนไลน์ ที่ส่งข้อมูลถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการคัดกรองเหมือนสื่ออื่นๆ จึงพบว่ามีการส่งข้อมูลผ่านสื่ออนไลน์ในลักษณะกระทบสังคม กระทบความมั่นคง กระทบสถาบันฯ ยุยงปลุกปั่น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข แต่ปัญหาใหญ่คือ สื่อออนไลน์ที่มีผู้ให้บริการอยู่ในต่างประเทศ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทิวป์ ทำให้เข้าไปกำกับดูแลยาก สาเหตุที่ กมธ.ชุดนี้ให้ความสำคัญกับสื่ออนไลน์เป็นพิเศษ เพราะมีการส่งข้อมูลที่กระทบสังคมและมีอัตราการขยายตัวสื่อประเภทนี้อย่างรวดเร็ว โดยมีข้อมูลพบว่า ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตของผู้บริโภคสื่อออนไลน์มากเป็นอันดับ 9 ของโลก มีผู้ใช้แอปพลิเคชั่นไลน์ 32 ล้านคน เฟซบุ๊ก 34 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นอัตราเติบโต ที่ สปท.เล็งเห็นว่าควรเร่งกำกับดูแล

“เร็วๆ นี้จะมีการเสนอขอใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อระงับยับยั้งสื่อออนไลน์บางสื่อที่พบว่ากระทบต่อความมั่นคง และสถาบันฯ” พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ระบุ

** หาช่องแก้ กม.ให้ ตร.คุมสื่อสิ่งพิมพ์

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ขอย้ำว่าหลักการทำงานของ สปท.ไม่ใช่ต้องการเข้าไปควบคุมสื่อ แต่ให้สื่อมวลชนยังมีเสรีภาพ ทำหน้าที่โดยไม่มีเงื่อนของทุนการเมืองมาครอบงำ ขณะนี้กำลังพิจารณาเสนอกฎหมายที่ให้ สตช.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมเข้ามากำกับดูแลสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ยังเป็นเพียงการคุยกันเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งในอนาคตต้องคุยกันว่า ควรมีการออกแบบหน่วยงานขึ้นมาดูแลกำกับสื่อมวลชนหรือไม่ เพราะในอนาคต กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่กำกับดูแลสื่อออนไลน์จะปรับไปเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยหน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ จะดูแลทั้งในแง่คุณภาพ เสรีภาพ และการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งสวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ทั้งนี้ ใน กมธ.ยังคุยกันคือการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง

** “บิ๊กเดลินิวส์” เอาด้วย-อ้าง วธ.ดูไม่ไหว

นางประภา ศรีนวลนัด รองประธาน กมธ.สื่อสารฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารสื่อในเครือเดลินิวส์ด้วย กล่าวเสริมว่า เดิมทีสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในกำกับดูแลของ สตช. แต่ได้โอนให้กระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลในภายหลัง ซึ่งเราเห็นว่า กระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้มีเวลาลงมาดูแลเต็มที่ เนื่องจากมีกิจกรรมในด้านอื่นๆ จึงอยากให้ สตช.ให้ความร่วมมือ เพราะถือเป็นประโยชน์การจดแจ้งและด้านอื่นๆ ซึ่งขณะนี้กำลังพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จดแจ้งการพิมพ์อยู่ อย่างไรก็ตาม สปท.ก็ได้ทำเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ การไม่แทรกแซงสื่อ และการให้ความร่วมมือให้มีเสรีภาพกับผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชน เพื่อทำให้สื่อสารมวลชนทั่วประเทศมีสิ่งรองรับที่ดี รวมทั้งมีการพยายามอบรมสื่อเพื่อให้ก้าวทันโลก

“ต้องฝากให้ สตช.นำไปคิดว่า อยากได้อำนาจนี้กลับคืนมาหรือไม่ด้วย” นางประภา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น