xs
xsm
sm
md
lg

งัดม.44 จัดหนักสื่อออนไลน์ เชือดมือโพสต์ยุยง-ปลุกปั่น เชิญบิ๊กกูเกิลหารือม.ค.59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นางประภา เหตระกูล รองประธานกรรมาธิการสปท.พร้อมคณะราว 60 คน เดินทางเข้าพบ พล.ต.ท.ปิยะ สอนตระกูล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการปฏิรูปสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวภายหลังการหารือว่า เป็นการหารือกันเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปสื่อเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวโดยมีกรอบ 3 ด้านคือด้านสื่อสิงพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และด้านสื่อออนไลน์ เน้นการกำกับดูแลที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไม่ใช่การควบคุม ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐและสถาบันหลักของชาติโดยต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือประชาชน

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวยอมรับว่าสื่อที่กำลังมีปัญหากระทบกับสังคม คือสื่อออนไลน์ เพราะผู้ผลิตสื่อสามารถส่งข้อมูลถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ที่เป็นสื่อหลัก ซึ่งยังมีระบบการคัดกรองอยู่และเป็นปัญหาหนักที่ต้องยอมรับว่าแก้ไขยาก และเห็นว่าเป็นปัญหาหลักที่ต้องเข้าไปแก้โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่ผู้ให้บริการอยู่ต่างประเทศ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูบ ซึ่งการเข้าไปกำกับดูแลทำได้ยาก

“ปัญหาที่พบในสื่ออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างมาก และมีการส่งข้อมูลผ่านสื่ออนไลน์ในลักษณะกระทบสังคม กระทบความมั่นคง กระทบสถาบัน ยุยงปลุกปั่น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขบางเรื่องสปท.พิจารณาว่าควรแก้ไขโดยด่วน เร็วๆนี้จะเสนอขอใช้ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อระงับยับยั้งสื่อออนไลน์บางสื่อที่พบว่ากระทบต่อความมั่นคงและสถาบัน”พล.ต.ต.พิสิษฐ์ระบุ

และในวันที่ 14 มกราคม 2559 ตัวแทนจากบริษัทกูเกิลประเทศไทยจะขอเข้าพบกมธ.ชุดนี้ และในวันที่ 21 มกราคม รองประธานบริษัทกูเกิลจะเข้าพบ เพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้เพราะการส่งข้อมูลของสื่อออนไลน์กระทบสังคมรวดเร็วมาก อีกส่วนหนึ่งคือการขยายตัวของสื่อประเภทนี้ ซึ่งพบว่าผู้บริโภคสื่อออนไลน์ในไทยมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก มีผู้ใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ 32 ล้านคน ใช้เฟชบุ๊ก 34 ล้านแอคเคาท์ เป็นอัตราเติบโต ที่สปท.เล็งเห็นว่าควรเร่งกำกับดูแล

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ย้ำว่า การทำงานของสปท.ไม่ใช้เพื่อควบคุม หลักการคือให้สื่อยังมีเสรีภาพ สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนโดยไม่มีเงื่อนของทุน การเมือง หรืออื่นๆมาครอบงำ อย่างไรก็ตามในกมธ.กำลังคุยกันว่า เห็นควรให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม เข้ามากำกับดูแลสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เป็นเพียงการคุยกันเบื้องต้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังคุยเรื่องการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง

“ในอนาคตต้องคุยกันว่าควรมีการออกแบบหน่วยงานขึ้นมาดูแลกำกับสื่อมวลชนหรือไม่ เพราะในอนาคต กระทรวงไอซีทีที่กำกับดูแลสื่อออนไลน์ จะปรับโฉมเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยหน่วยงานที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ จะดูแลทั้งในแง่ คุณภาพ เสรีภาพ และการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งสวัสดิภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ”พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

ด้านนางประภา กล่าวว่า สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแลจากเดิมขึ้นอยู่กับสตช. แต่กระทรวงวัฒนธรรมไม่มีเวลาลงมาดูแลเนื่องจากมีกิจกรรมอื่นๆเยอะ จึงอยากให้สตช.มาดูแลเรื่องการจดแจ้งหรือด้านอื่นๆ ขณะนี้พยายามแก้พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ขณะเดียวกันสภาปฎิรูปฯได้ทำเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ การไม่แทรกแซงสื่อและการให้ความร่วมมือให้มีเสรีภาพกับผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชนและมีสิ่งรองรับที่ดีเพื่อให้ก้าวทันโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น