xs
xsm
sm
md
lg

“น้องไอซ์” สู้ชูสองนิ้ว เข้าสแกนสมองก่อนรักษา “ลมชัก” สถาบันประสาทฯ รักษาฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“น้องไอซ์” ยิ้มสู้ชูสองนิ้ว เข้าสแกนสมองสถาบันประสาทฯ รับการรักษา “โรคลมชัก” ด้าน ผอ. เผยรักษาฟรีผ่านกองทุนเพื่อผู้ป่วยโรคลมชัก เบื้องต้นให้ยารักษาก่อน ด้านคุณย่าน้องไอซ์ขอบคุณช่วยหลานสาวได้รักษากับแพทย์เชี่ยวชาญ

ความคืบหน้าการช่วยเหลือ น.ส.อารดา วงศ์ดีเลิศ หรือ น้องไอซ์ อายุ 18 ปี ลูกสาวของ นพ.กฤษฎา วงศ์ดีเลิศ อดีตแพทย์โรงพยาบาลกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งภายหลังลาออกไปอยู่ รพ. เอกชน ได้เสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทำให้น้องไอซ์ต้องอาศัยอยู่กับคุณย่ามาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และประสบกับความยากลำบาก เนื่องจากรายได้จากการขายขนมของคุณย่าไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้านและค่าเล่าเรียน จนไม่สามารถเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ ขณะที่น้องไอซ์เองมีปัญหาป่วยด้วยโรคลมชัก และทำการรักษาอยู่ที่ รพ.กบินทร์บุรี ซึ่งขณะนี้มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าเล่าเรียนแล้ว

ล่าสุด วันนี้ (24 ก.พ.) นพ.โชคชัย มานะดี ผอ.รพ.กบินทร์บุรี พร้อมทีมแพทย์ ได้ทำการส่งตัว น.ส.อารดา มารับการรักษาโรคลมชักต่อที่สถาบันประสาทวิทยา โดย น.ส.อารดา พร้อมด้วยคุณย่าวัย 80 ปี ได้เดินทางมาถึงสถาบันประสาทวิทยา เมื่อช่วงเวลา 11.20 น. ซึ่ง น.ส.อารดา ยังคงมีท่าทีตื่นเต้นอยู่บ้างกับการเดินทางมารับการรักษาในครั้งนี้ แต่สีหน้าท่าทางยังคงแจ่มใส พร้อมชูสองนิ้วก่อนเข้าห้องฉุกเฉิน เพื่อทำการซักประวัติและประเมินอาการเบื้องต้น ซึ่งระหว่างที่เดินนั้นก็ประคองคุณย่าของตนเองตลอดเวลา

นพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคลมชักเป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับทางระบบประสาท ซึ่งแนวทางการรักษาคนไข้นั้น จะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ว่าเข้าได้กับโรคลมชักหรือไม่ จากนั้นจะมีการตรวจวินิจฉัยยืนยันเพิ่มเติม โดยทำการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ เพื่อดูว่าเนื้อสมองมีความผิดปกติ หรือคลื่นสมองผิดปกติที่เข้าได้กับโรคลมชักหรือไม่ ซึ่งแต่ละรายใช้เวลาในการวินิจฉัยไม่เท่ากัน บางรายสามารถวินิจฉัยได้เลย แต่บางรายยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ ก็อาจต้องให้นอนโรงพยาบาลเพื่อตรวจดูคลื่นสมองระยะยาว 24 ชั่วโมง แล้วนำมาแปลผลว่าเกี่ยวข้องกับโรคลมชักหรือไม่ ซึ่งกรณีของ น.ส.อารดา คาดว่า จะดำเนินการตรวจตามข้นตอนทั้งหมดภายในวันนี้

นพ.อุดม กล่าวว่า ทั้งนี้ หากวินิจฉัยได้ว่าเกี่ยวข้องกับโรคลมชัก ก็จะเริ่มทำการรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ยารักษาก่อน โดยพิจารณาจากยาที่คนไข้รับประทานอยู่ปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ มีการใช้ยารักษาเกินสองตัวแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้หรือไม่ เพื่อปรับชนิดและขนาดของยาให้มีความเหมาะสมกับคนไข้มากขึ้น ซึ่งหากคนไข้สามารถควบคุมอาการชักได้ดี ใช้เวลาไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้ แต่หากไม่สามารถควบคุมอาการได้นั้น จะมีการติดตามตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองประมาณ 1 - 2 เดือน จากนั้นจะมีการประชุมสหวิชาชีพประเมินผลวิเคราะห์เพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดนั้นส่วนใหญ่ใช้เวลานอนในโรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถกลับบ้านได้หากไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยจะมีการให้ยากันชักอย่างต่อเนื่องอย่างต่ำประมาณ 2 ปี ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจากสถิติของสถาบันประสาทฯ พบว่า ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกว่า 70% ไม่เกิดอาการชักอีก ส่วน 50% มีอาการชักลดลง ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับต่างประเทศ

“ความรุนแรงของโรคลมชักมีหลายระดับ ทั้งการชักเพียงครั้งเดียวในชีวิต การชักทุกวัน หรือแม้แต่ชักวันละหลายรอบ จึงต้องทำการประเมินอาการของคนไข้ก่อน ซึ่งการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นสมอง สามารถบอกชนิดของโรคลมชัก และวิธีการรักษาได้ แต่ต้องอาศัยเวลาในการวินิจฉัย สำหรับอัตราการเกิดโรคลมชักของประเทศไทยข้อมูลยังไม่ชัดเจน แต่ทั่วโลกพบแนวโน้มเพิ่มขึ้นความชุกอยู่ที่ 25 ต่อพันประชากร แต่โรคลมชักวัยที่พบมากขึ้นช่วงอายุก่อน 20 ปี และในวัยสูงอายุ” ผอ.สถาบันประสาทฯ กล่าวและว่า การรับตัว น.ส.อารดา มารักษา เพราะอยากช่วยคนไข้ ซึ่งแต่ละปีสถาบันฯ ก็มีการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

นพ.อุดม กล่าวภายหลัง น.ส.อารดา เข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคลมชักว่า การตรวจวินิจฉัยนั้น ตัวคนไข้ต้องมีความพร้อม และต้องตรวจอย่างละเอียด ซึ่งตัวของ น.ส.อารดา ถือว่ามีความพร้อมพอสมควร มีความตื่นเต้นบ้าง และมีความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน ทำให้ผลตรวจอย่างละเอียดยังไม่สามารถบอกอย่างชัดเจนได้ แต่ถ้าเจอสาเหตุแล้วก็นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 1 สัปดาห์ ถ้าไม่เจอสาเหตุอาจต้องนอนนานกว่านั้น เพื่อตรวจคลื่นสมองในระยะยาว

พญ.กาญจนา อั๋นวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและโรคลมชัก กล่าวว่า หลังทราบผลจะพิจารณาว่ายากันชักที่คนไข้รับประทานอยู่นั้นตรงชนิดกับโรค และเหมาะสมหรือไม่ โดยอาจปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมเพื่อลดการชักให้มากที่สุด ส่วนจะต้องรับประทานนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับผลการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะมีการนำผลมาหารือกับทีมสหวิชาชีพ แต่เบื้องต้นทีมแพทย์ไม่ได้มีความกังวล การรักษาโรคลมชักนั้น มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องใช้ยาที่มีราคาแพง ใช้เครื่องมือประเมินตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติม รวมถึงการผ่าตัด ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันฯ มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ป่วยโรคลมชัก มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา กรณีผู้ป่วยยากไร้ ไม่มีสิทธิการรักษาใด หรือแม้มีสิทธิการรักษา แต่ไม่ได้ครอบคลุมการรักษาบางอย่าง เพื่อให้เข้าถึงการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคได้ผ่านบัญชี มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 020-1-33312-0 ธนาคารกรุงเทพ 090-7-12612-2 กรุณาระบุเพื่อผู้ป่วยโรคลมชัก และส่งหลักฐานการโอนหรือแจ้งกองทุนเพื่อทราบ โทร. 0-2354-6118 หรือ 0-2306-9899 ต่อ 2439, 2214 หรืออีเมล pnifoundation55@gmail.com

นางบุนนาค จับศรทิพย์ คุณย่าของน้องไอซ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณสื่อที่ให้ความสนใจทำข่าว จนทำให้น้องได้รับการรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลมชัก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันนี้เดินทางมาไกลมีความเหน็ดเหนื่อย และต้องทำการตรวจเพิ่มเติม จึงยังไม่สะดวกให้ข้อมูล แต่หากมีความพร้อมจะให้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบันน้องไอซ์ยังมีภาวะชักที่ไม่สามารถควบคุมได้


ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น