xs
xsm
sm
md
lg

ออกฉลากอาหาร “เพื่อสุขภาพ” ทางเลือกใหม่ผู้บริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. ออกฉลากใหม่ การันตีอาหาร “เพื่อสุขภาพ” เป็นทางเลือกผู้บริโภค มอบสถาบันโภชนาการวิเคราะห์อาหารยื่นขอฉลาก ยึดเกณฑ์ “หวาน มัน เค็ม” พิจารณา ต้นเหตุโรคเรื้อรัง เผยมีผู้ยื่นขอแล้วกว่า 10 ราย

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหารฉบับใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยสัญลักษณ์บนฉลากอาหารใหม่นี้จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าจะได้อาหารที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บังคับผู้ประกอบการทุกรายต้องได้ฉลากนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจในการยื่นขอฉลาก ทั้งนี้ อย. ได้มอบหมายให้สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการวิเคราะห์อาหารที่ส่งเรื่องมาขอรับฉลากใหม่นี้กับ อย. เพื่อดูว่าอาหารเป็นไปตามเกณฑ์ที่ควรจะได้รับฉลากใหม่หรือไม่

ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต นักวิชาการประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ฉลากใหม่จะเป็นสัญลักษณ์พร้อมข้อความว่า “เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ซึ่งเบื้องต้นเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการพิจารณาและวิเคราะห์อาหารว่าควรได้รับฉลากนี้หรือไม่จะเป็นเรื่องของหวาน มัน เค็ม เนื่องจากเป็นหนึ่งในปัญหาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนั้น หากสถาบันวิเคราะห์อาหารที่ยื่นขอฉลากใหม่นี้ แล้วพบว่ามีปริมาณความหวาน มัน เค็มน้อยกว่ายี่ห้ออื่นในหมวดสินค้าเดียวกันหรืออยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็จะได้ฉลากนี้ เช่น นมสด ที่ปกติจะต้องเติมน้ำตาล แต่หากนมสดยี่ห้อใดมายื่นขอฉลากเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพแล้วสถาบันวิเคราะห์พบว่าไม่มีการเติมน้ำตาล นมสดยี่ห้อนั้นก็จะได้ฉลาก หรือ น้ำปลาที่ปกติจะมีประมาณโซเดียมสูง แต่ถ้ามียี่ห้อใดมีปริมาณโซเดียมต่ำลง 30% ก็จะให้ฉลาก โดยจะเป็นการเทียบเกณฑ์หวาน มัน เค็ม ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เดียวกัน ถ้ายี่ห้อใดน้อยกว่าก็ได้ฉลาก

“การมีฉลากแบบใหม่นี้ทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการอาหาร จะต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการลดหวาน มัน เค็มเพื่อให้ได้ฉลากที่มีสัญลักษณ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งจะเป็นเครื่อหมายการันตีในการเลือกซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภค ที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าเพื่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยกระตุ้นเรื่องการป้องกันโรคเอ็นซีดีให้กับประชาชนด้วย ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ยื่นขอรับฉลากใหม่แล้วกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องชูรส น้ำปลา เครื่องดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันพืช อาหารจานเดียวแช่แข็ง เป็นต้น คาดว่าในเดือนมีนาคมนี้จะเริ่มให้ฉลากใหม่นี้ได้” ศ.ดร.วิสิฐ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น