xs
xsm
sm
md
lg

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโตต่ำสุดรอบ 44 ปี ข้าวสารแบ่งถุงแย่งรากหญ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทิต โชควัฒนา
ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวูบหนัก โตแค่ 0.4% ต่ำสุดรอบ 44 ปีเป็นประวัติศาสตร์ เหตุเศรษฐกิจแย่ รากหญ้าหันซื้อข้าวแบ่งถุงขายแทน “มาม่า” ฮึดสู้ มั่นใจปีนี้ต้องโต 5% มากกว่าตลาดรวม ลุ้นหนักจัดเต็ม

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” เปิดเผยว่า ตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยรวมเมื่อปี 2558 เติบโตแค่ 0.4% หรือมีมูลค่าตลาดรวม 14,576 ล้านบาท ถือว่าเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 44 ปีที่มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ว่าได้ และยังต่ำกว่าปี 2557 ที่เติบโตเพียง 1%

ขณะที่ “มาม่า” เติบโต 0.4% เท่ากับตลาดรวม และยังคงมีส่วนแบ่งตลาดเป็นที่หนึ่งมากกว่า 51% ส่วนอันดับที่สองคือ “ยำยำ” มีแชร์ 21% และ “ไวไว” มีแชร์ 20% ส่วนผลิตภัณฑ์แบบ “มาม่า คัพ” มีแชร์มากกว่า 54% มีการเติบโตมากกว่า 3.2% มากกว่าตลาดรวมแบบถ้วย หรือคัพที่เติบโตเพียง 1.8% เท่านั้น โดยในปีที่แล้วทุกแบรนด์ใช้งบโฆษณารวมกันกว่า 750 ล้านบาท

สำหรับ 3 รสชาติของ “มาม่า” ที่มียอดขายดีที่สุดคือ ต้มยำกุ้งน้ำใส, หมูสับ และต้มยำกุ้งน้ำข้น โดยสามรสชาตินี้มีสัดส่วนยอดขายรวมกัน 60% ขณะที่เย็นตาโฟหม้อไฟซึ่งปีที่แล้วนำ “อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ทำให้ยอดขายเติบโตน้อยมาก 40% ทั้งที่เป็นรสชาติเก่าอยู่แล้ว โดยแคมเปญของ “อั้ม-พัชราภา” ใช้งบตลาดมากกว่า 200 ล้านบาท นอกนั้นก็มีแคมเปญชิงโชค โรดโชว์ และกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้งบรวม 50 ล้านบาท

นายเวทิตกล่าวว่า สาเหตุที่ปีที่แล้วตลาดไม่ค่อยดีเนื่องจากเศรษฐกิจรวมไม่ค่อยดี กำลังซื้อรากหญ้าที่เป็นตลาดใหญ่ลดลง ทำให้ “มาม่า” ไม่สามารถเป็นดัชนีชี้วัดได้เหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภครากหญ้าหันไปจับจ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาต่ำ หรือมีราคาใกล้เคียงกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าวที่แบ่งเป็นถุงขายราคาไม่แพงทำให้กระทบกับตลาดรวมด้วย จึงทำให้ปีนี้ “มาม่า” ตัดสินใจยังไม่ปรับราคาขึ้นแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ปีนี้คาดว่าตลาดรวมน่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นประมาณ 2% ขณะที่แบรนด์ “มาม่า” คาดว่าจะเติบโต 5% หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนยอดขายมาจากช่องทางโมเดิร์นเทรดและเทรดิชันนัลเทรดเท่ากันแล้ว จากปีก่อนหน้านี้มีช่องทางหลักคือเทรดิชันนัลเทรด 60% และโมเดิร์นเทรด 40% และทำรายได้ให้สหพัฒน์ฯ ในสัดส่วนกว่า 33% จากรายได้รวมสหพัฒน์ฯ ที่ 28,000 ล้านบาท โดยปีนี้ “มาม่า” จะใช้งบการตลาดรวมกว่า 250 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยบวกปีนี้คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ความเชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล และการเปิดเออีซีที่จะช่วยให้เกิดการซื้อขายมากขึ้นจากลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดน แต่ภาวะภัยแล้งก็น่าห่วงเช่นเดียวกัน ขณะที่ “มาม่า” ก็ต้องทำทุกทางเพื่อรักษาความเป็นผู้นำ ทั้งการออกรสชาติใหม่ การทำตลาด แคมเปญโปรโมชัน การกระตุ้นการซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะรากหญ้าที่เป็นตลาดหลัก ที่สำคัญตลาดจะเติบโตได้ต้องมาจากตลาดต่างประเทศเป็นหลักแล้วตอนนี้ เพราะตลาดในประเทศอยู่ในภาวะที่อิ่มตัวแล้ว ซึ่งในต่างประเทศนั้นขณะนี้เรามีฐานผลิตที่จะรุกตลาดได้มากขึ้นแล้ว เช่น บังกลาเทศ ฮังการี กัมพูชา พม่า

“ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยถือได้ว่าเป็นตลาดที่แข่งขันกันสูง มีหลายแบรนด์ทำตลาด และส่วนใหญ่ก็จะมีโรงงานการผลิตในไทยอยู่แล้วต้นทุนเลยต่ำ จึงคาดว่าคงไม่มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอีกเพราะสู้ราคาไม่ได้ โดยราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยถือว่าต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ถ้าเราขายสูงๆ ก็จะทำให้คนอื่นเห็นว่าขายกำไรดี ก็จะทำให้มีแบรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่มอีก ยิ่งทำให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น มาม่าจึงยังไม่ปรับราคา” นายเวทิตกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น