xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชพบผู้ป่วยเชื่อโซเชียล เลิกกินยาจนทรุด เตือน “หมอ” เลี่ยงให้ข้อมูลเข้าใจผิดง่ายผ่านเฟซบุ๊ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศิริราชห่วง ปชช. เชื่อข้อมูลสุขภาพผิด ๆ ทางโซเชียล พบผู้ป่วยเลิกกินยา หันใช้สมุนไพรแทนจนอาการทรุด จัดเวทีรวมประเด็นฮิตสุขภาพทางโซเชียล พร้อมเปิดเฟซบุ๊ก CSR ภาควิชาอายุรศาสตร์ หวังให้ความรู้ที่ถูกต้อง เตือนหมอดลี่ยงให้ข้อมูลเข้าใจผิดง่ายทางโซเชียลต้องควบคุมข้อมูลให้ดี

วันนี้ (10 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.30 น. รศ.พญ.ปรียานุช แย้มวงษ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดงานอายุรแพทย์ศิริราชพบประชาชน 2559 หัวข้อ “เมื่อหมอขอแชร์...ข้อเท็จจริงทางสุขภาพจากโลกโซเชียล” เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรค และนำไปใช้ดูแลตัวเองเบื้องต้น

รศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันคนนิยมใช้สื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยพบว่าขณะนี้มักมีการส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและผิด ที่น่ากังวลคือ ประชาชนทั่วไปเมื่อได้รับข้อมูลที่ส่งต่อกันเหล่านี้มาแล้วเชื่อและนำไปปฏิบัติตาม จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตนเอง เพราะแม้ข้อมูลจะถูกต้องแต่อาจปฏิบัติตามโดยไม่เข้าใจก็เกิดปัญหาได้ ยิ่งข้อมูลที่ส่งต่อกันอย่างผิด ๆ ยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาก ที่สำคัญคือโซเชียลมีเดียนั้นมีพลังมาก ข้อมูลหนึ่ง ๆ สามารถถูกส่งต่อออกไปได้ไกลและมาก จนเกิดเป็นกระแสสังคมขึ้นมา เช่น การกินน้ำมันหมูแล้วดี คนก็เข้าใจผิดไปกินน้ำมันหมู ซึ่งจริง ๆ แล้วน้ำมันหมูมีไขมันอิ่มตัวมาก คนที่มีภาวะไขมันสูงอยู่แล้วก็ยิ่งมีปัญหา หรือการใช้สมุนไพรรักษาโรค เป็นต้น

รศ.นพ.ไชยรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รพ.ศิริราช โดยเฉพาะโรคทางอายุรศาสตร์ที่จะดูแลผู้ป่วยระยะยาว มีการให้ยารับประทานติดต่อกันนาน ก็มักพบปัญหาผู้ป่วยมาด้วยโรคที่เกิดจากการเชื่อข้อมูลสุขภาพทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ที่มักเป็นปัญหาคือ การให้ข้อมูลประเภทกินยาแผนปัจจุบันที่ทำจากสารเคมีทำให้เกิดผลต่อตับและไต ไม่ควรรับประทาน ให้กินยาสมุนไพรแทนดีกว่า จึงมักพบผู้ป่วยมาด้วยอาการ เช่น ไตวาย เบาหวานขึ้น ความดันขึ้น เนื่องจากการไม่ใช้ยาแผนปัจจุบัน แต่หันไปใช้สมุนไพรแทน ซึ่งที่จริงแล้วหากจะกินสมุนไพรก็สามารถทำได้แต่ควรปรึกษาหรือแจ้งแพทย์ที่ดูแลรักษาก่อน ส่วนกรณีที่ยาแผนปัจจุบันทำให้ตับไตพังจนผู้ป่วยกังวลไม่ยอมรับประทาน เพราะต้องรับประทานในระยะยาวนั้น ผู้ป่วยอาจจะกังวลไปเอง เพราะที่จริงแล้วแพทย์ที่ทำการรักษาก็จะมีการตรวจค่าของตับ ไต การทำงานของร่างกาย เพื่อปรับโดสยาให้เหมาะสมอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้

“ความรู้ทางสุขภาพถือว่ามีมาก การส่งต่อทางสังคมออนไลน์จึงมีมาใหม่ได้เรื่อย ๆ และกระจายไปไกล การจะสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างไรก็ไม่ทัน เพราะฉะนั้นการได้รับข้อมูลสุขภาพใด ๆ ก็ตามทางโซเชียลมีเดียขอให้พิจารณาให้ดีก่อน อย่าเพิ่งเชื่อ แต่ต้องหาความรู้เพิ่มเติมว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ส่วนภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ จึงขอเป้นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้ความเข้าใจทางสุขภาพที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยเลือกประเด็นฮิตทางสุขภาพที่มักมีการแชร์กันมาให้ความรู้ต่อประชาชน เช่น น้ำมันหมูดีจริงหรือ ไข้เลือดออก มะเร็ง การนอนกรน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเปิดเฟซบุ๊กชื่อ “CSR ภาควิชาอายุรศาสตร์” เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพทางโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งหากข้อมูลที่มาจากเฟซบุ๊กนี้ก็สามารถเชื่อถือได้ เพราะมีการกลั่นกรองมาแล้ว” รศ.นพ.ไชยรัตน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ออกมาให้ข้อมูลสุขภาพต่าง ๆ ทางโซเชียลมีเดีย จนมีการแชร์เป็นจำนวนมากต้องมีความระวังอะไรหรือไม่ รศ.นพ.ไชยรัตน์ กล่าวว่า การออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องดี แต่บางครั้งข้อมูลที่สื่อออกไปก็ควบคุมได้ยาก เช่น บอกว่าโรคหัวใจมักมีอาการเหนื่อย แต่จริง ๆ แล้วอาการเหนื่อยก็ไม่ใช่อาการอย่างเดียวของโรคหัวใจ หรือมีไข้สูงเป็นอาการของโรคไข้เลือดออก แต่ก็ไม่ใช่แค่โรคไข้เลือดออกเพียงโรคเดียว เพราะฉะนั้นต้องพยายามควบคุมการให้ข้อมูลไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น