xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์ชัด!! กินยาเยอะ ทำให้ตับไตพัง จริงหรือ??? (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

By : Pharmchompoo
ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเรื่องของกลุ่มโรค NCDs กับการกินยาเป็นระยะเวลานานและพูดถึงปัญหาการที่ผู้ป่วยมักจะกลัวในเรื่องของการกินยามากๆ แล้วตับไตจะพัง (เคลียร์ชัด!! กินยาเยอะ ทำให้ตับไตพัง จริงหรือ???
) จนเลิกกินยาแผนปัจจุบันและหันไปใช้วิธีการแพทย์ทางเลือก ด้วยเชื่อว่า “ปลอดสาร” “ไม่ใช่ยาเคมี” ซึ่งได้อธิบายไปแล้วว่าอาจจะเป็นผลเสียต่อตัวผู้ป่วยเองในแง่ของอาการแทรกซ้อน


ตอนที่สองนี้จะกล่าวถึงว่า แล้วจริงๆ ความกลัว หรือความเชื่อของผู้ป่วยว่า “กินยามากๆ เยอะๆ แล้วตับไตจะพัง” นั้นจริงไหม? ซึ่งต้องขอแยกกล่าวเป็น 2 กรณี คือยาที่มีผลต่อตับ และยาที่มีผลต่อไต

โดยธรรมชาติ ยารักษาโรคไม่ว่าจะแผนไหน ขนานใด ล้วนเป็นสารเคมีที่มีทั้งฤทธิ์ในการรักษาและความเป็นพิษ เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวซึ่งติดมากับยา หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถเข้าใจและป้องกันแก้ไขได้

ยาที่มีผลข้างเคียงต่อตับนั้น จากข้อมูลพบว่า มียามากกว่า 900 ชนิด ที่กินแล้วเกิดผลข้างเคียงต่อตับได้ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน หรือสมุนไพรก็ตาม และหลายครั้งที่อาการข้างเคียงต่อตับก็เกิดขึ้นเองอย่างไม่ทราบสาเหตุ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนที่กินยาชนิดเดียวกันเพื่อการรักษาโรคแล้วจะเกิดผลข้างเคียงเหมือนกัน เพราะจะมีปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงต่อตับมากกว่ากันไปในแต่ละกรณี เช่น

“เชื้อชาติ” ... พบว่าคนผิวสี จะมีความไวต่อยารักษาวัณโรคมากกว่าคนปกติ
“อายุ” ... พบว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงในการเกิดพิษต่อตับจากยา (แม้จะเป็นขนาดที่ใช้ในการรักษาตามปกติ)
“เพศ” ... เพศหญิงมีความเสี่ยงสูงกว่า (ยังไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด)
“การบริโภคแอลกอฮอล์” ... คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมีความเสี่ยงสูงในการเกิดพิษต่อตับจากยา
“โรคประจำตัว” ... คนที่มีโรคตับอยู่เดิม มีความเสี่ยงสูงกว่า หรือคนที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ก็จะมีความไวต่อการเกิดพิษต่อตับจากยาแก้ปวดบางชนิด ได้มากกว่าปกติ

ในทางปฏิบัติทั่วไป แพทย์ผู้รักษาจะทราบข้อมูลอาการข้างเคียงของยาต่อตับในระดับหนึ่ง นอกจากนั้น แพทย์จะต้องตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับคนไข้เป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนให้ยาทุกครั้งและตรวจติดตามเป็นระยะ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของคนไข้ที่จะต้องแจ้งแพทย์ว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง หรือมียากินอะไรอยู่เดิม เพื่อที่แพทย์จะได้เลือกใช้ยาและ/หรือปรับยาให้ถูกชนิด ถูกขนาด ลดความเสี่ยงไปได้เปลาะหนึ่ง และผู้ป่วยยังจะต้องมาตรวจตามนัดเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่ายาที่ใช้จะไม่มีผลต่อตับ

ยาที่มีผลข้างเคียงต่อไต มีข้อมูลยืนยันว่ามียาหลายชนิดที่ทราบกันดีว่ามีผลข้างเคียงต่อไต เช่น ยาฉีดฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาฉีดฆ่าเชื้อรา ยาเคมีบำบัดชนิดฉีด ยาขับปัสสาวะบางชนิด (โดยเฉพาะในกรณีใช้ฉีด)

เช่นเดียวกันกับยาที่มีผลต่อตับ โดยตัวยาลอยๆ ไม่ใช่ปัจจัยตัดสินว่าจะเกิดความเป็นพิษทำให้ไตพัง แต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ที่มักจะทำให้คนไข้มีความไว หรือความเสี่ยงที่จะเกิดพิษต่อไต

ปัจจัยเหล่านั้น เช่น คนไข้มีโรคไตอยู่เดิม หรือมีการทำงานของไตบกพร่องอยู่เดิม, ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป, ผู้ที่ภาวะขาดน้ำ, การกินยาอื่นๆ ที่มีผลต่อไตร่วมด้วย, อัตราเร็วในการให้ยา, ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับยาที่มีผลต่อตับ ก่อนเริ่มใช้ยาแพทย์ต้องตรวจค่าการทำงานของไตก่อนเริ่มให้ยา เช็กประวัติของคนไข้ก่อน รวมทั้งยาทั้งหมดที่คนไข้ใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการใช้ยา ยาอะไรที่ต้องใช้และมีการขับออกทางไตมากเป็นพิเศษ

หากพบว่าคนไข้มีปัญหาไตเสื่อมอยู่ก่อน แพทย์ก็ต้องปรับขนาดยาลดลงตามแต่ละชนิดของยาที่มีข้อกำหนด และต้องตรวจค่าการทำงานของไตตลอดระยะเวลาที่ได้ยา แก้ไขปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดพิษต่อไตถ้าทำได้ เช่น ถ้าคนไข้ขาดน้ำ ก็ต้องชดเชยน้ำและเกลือแร่ตามหลักการ และเช่นเดิม คนไข้ต้องแจ้งแพทย์เสมอว่ามีโรคประจำตัวอะไร ใช้ยาอะไรอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงผลจากการตีกันของยาแล้วยิ่งส่งเสริมให้เกิดพิษต่อไตมากยิ่งขึ้น

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่จะต้องกล่าว และสำคัญมาก คือ ธรรมชาติของตัวโรคเอง โรคเรื้อรังอย่างความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง พวกนี้ก็จะมีอาการแทรกซ้อนของโรคโดยธรรมชาติ เมื่อผ่านไปนานๆ หลายสิบปี แม้ว่าจะควบคุมอาการเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม เช่น ผู้ที่เป็นความดันเลือดสูงนานๆ ก็มักจะมีไตเสื่อมตามมา โรคหลอดเลือดสมองตามมา ผู้ที่เป็นเบาหวานนานๆ ก็จะมีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ตา หรือมีอาการแทรกซ้อนที่ไต ประกอบกับว่า เมื่อกินยาควบคุมอาการไปนานๆ แล้วมีภาวะเหล่านี้ตามมาก็เลยชวนทำให้เข้าใจไปว่า กินยาเยอะๆ แล้วยาไปสะสมที่ตับไต ทำลายตับไต

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ยาไม่ใช่สาเหตุลำพังของการเกิดพิษ แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นมาร่วมด้วย และการเกิดพิษนั้นก็สามารถเกิดที่ขนาดการรักษาได้ และการใช้ยาเพียงไม่กี่ครั้งก็สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อตับหรือไตได้เช่นกัน ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง หรือไม่อยู่ในข้อกำหนดตามที่มีไว้ของยาแต่ละชนิด

เพราะฉะนั้นจึงตัดประเด็นเรื่องการกินยามากๆ ทำให้ตับหรือไตพังออกไปได้ เพราะถึงแม้กินน้อย แต่ถ้าปัจจัยพื้นฐานของผู้ป่วยมีความเสี่ยงอยู่เดิม รวมทั้งการที่ไม่ได้ตรวจติดตามการรักษาเป็นระยะๆ ก็สามารถเกิดความเป็นพิษขึ้นมาได้ พูดง่ายๆ ก็คือตับไตพังนั่นเอง
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน

เอกสารอ้างอิง: Mehta N. Drug-Induced Hepatotoxicity [Online]. Update Dec 08, 2016. Available at: http://emedicine.medscape.com/article/169814-overview. Accessed on Jan 10, 2017.
Naughton CA. Drug-Induced Nephrotoxicity. Am Fam Physician 2008; 78 (6): 743-50.

กำลังโหลดความคิดเห็น