xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนเด็กปฐมวัยได้ผลคุ้มค่าเกิน 7 เท่า (1) / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีพระราชบัญญัติการศึกษาปี 2542 ซึ่งนับเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรก จำได้ว่าขณะนั้นตัวเองก็สนใจเรื่องการศึกษาปฐมวัย เพราะเป็นช่วงที่ลูกอยู่ในช่วงวัยทารก และได้สนใจเรื่องแนวเตรียมความพร้อม หรือขณะนั้นใช้คำว่าการศึกษาทางเลือก ซึ่งมีหลายประเภท เช่น มอนเตสซอรี่ วอลดอร์ฟ เรกจิโอ เอมิเลีย ไฮสโคป พอร์ตโฟลิโอ ฯลฯ โดยมีเป้าหมายให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้

ยุคนั้นต้องถือว่าเป็นยุคที่การศึกษาปฐมวัยน่าจะรุ่งเรืองที่สุดในบ้านเรา มีการรวมตัวของบรรดานักการศึกษา นักวิชาการที่ทำเรื่องปฐมวัยมากที่สุด แต่ก็ต้องถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเด็กปฐมวัยในบ้านเรา
และยุครุ่งเรืองนั้นก็หายไปเร็วมาก มีนักวิชาการที่สนใจแนวทางไหนก็ไปเดินหน้าพัฒนาโรงเรียนของตนเองในแนวทางที่ตนเองชื่นชอบและเชื่อมั่น ซึ่งส่วนใหญ่โรงเรียนเหล่านั้นจะเป็นโรงเรียนอนุบาลของเอกชน และปัจจุบันก็ยังมีโรงเรียนที่นำการศึกษาทางเลือกเหล่านั้นมาทำเป็นการศึกษาหลักในโรงเรียนและกลายเป็นจุดแข็งก็จำนวนไม่น้อย

แต่ก็ยังถือว่าเป็นการกระจุกอยู่เฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้มากขึ้น และเชื่อในแนวทางนี้มากขึ้น แต่แนวทางการศึกษาดังกล่าวก็ต้องใช้งบประมาณไม่น้อย จึงทำให้โรงเรียนเหล่านี้มีค่าเทอมที่สูง ผลที่ตามมาก็คือกลายเป็นโรงเรียนเฉพาะกลุ่มไปเสีย

และโรงเรียนที่ยังมุ่งมั่นในแนวทางนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องก็เหลือน้อยลง

ดิฉันคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก็เนื่องมาจากมีงานของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบายมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 24 แห่ง ในจังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์ ร่วมกันจัดงานเพื่อยกระดับการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนยากจนในพื้นที่ชนบทอย่างสมวัย ในโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ

ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง หัวหน้าโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education : RIECE Thailand) คือ ผู้ที่จุดประกายโครงการนี้ขึ้นมา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สำคัญคือการให้น้ำหนักที่การดูแลเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและถือเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่าที่สุดการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ในการดำรงชีวิตให้แก่เด็ก โดยหยิบยกเอางานวิจัยของ เจมส์ เจ เฮ็กแมน (James J Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้ศึกษาการใช้กระบวนการไฮสโคปเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กในระดับปฐมวัย
ผลของงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การลงทุนใน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับต่อผู้เข้าร่วมโครงการและสังคมประมาณ 7 - 12 บาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก

กลายเป็นที่มาของการจับมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล 24 แห่ง โดยการลงนามความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 50 แห่ง ในเขตจ.มหาสารคาม และ กาฬสินธุ์ ครอบคลุมเด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 2 - 4 ปี จำนวน 2,000 คน ตลอดจนการจัดทำฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนในช่วงปฐมวัยแบบต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อาจารย์วีระชาติ เลือกเอาการศึกษาแบบไฮสโคปในการลงพื้นที่ครั้งนี้ บนสมมติฐานว่าไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากมาย แต่ต้องเน้นพัฒนาคน

“ทำไมถึงเลือกไฮสโคป เพราะผมเลือกจากประสิทธิผลสูงสุดเมื่อเทียบกับต้นทุนการลงทุน ผมจะไม่บอกว่าไฮสโคปคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะมอนเตสเซอรี่เด่นเรื่องความฉลาด แต่ต้นทุนสูง ส่วนไฮสโคปเด่นเรื่องทักษะการเข้าสังคม ซึ่งเฮคแมนพบว่า ไอคิวไม่ได้ต่างกันมาก แต่ทักษะทางสังคมเป็นสิ่งที่สร้างยาก และในเมื่อการจัดการเรียนการสอนแบบไฮสโคปลงทุนน้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ผมจึงเลือกแนวทางนี้ ที่สำคัญคือมันมีประสิทธิภาพพอและเป็นไปได้”

การศึกษาแบบไฮสโคป (High/Scope Approach) มีแนวทางการสอนเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้พัฒนาคน การเรียนรู้และการสอนทำให้มีการคิดเชื่อมโยงความรู้ได้อย่างรวดเร็ว และสร้างเสริมเด็กให้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการเรียนรู้ที่ถูกต้องและมีความชัดเจน

การสอนแบบไฮสโคปมีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจย์ (Piaget’s Theory) ว่าด้วยพัฒนาการทางสติปัญญาที่เน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติที่เด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ (Constructive process of learning) เด็กจะเรียนรู้จากการกระทำของตน การประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน ช่วยให้เด็กเกิดความรู้ขึ้น ด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่าเด็กเป็นผู้ใฝ่รู้เด็กสามารถสร้างความรู้ได้จากประสบการณ์ที่มีความหมาย

หัวใจของกระบวนการเรียนรู้แบบไฮสโคปเน้น 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ
1. การวางแผน (Plan) เพื่อให้เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมาย ทำงานอย่างเป็นระบบก่อนลงมือปฏิบัติ
2. การลงมือปฏิบัติ (Do) เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักสำรวจ สร้างสรรค์จินตนาการ รู้จักเข้าสังคมและทำงานเป็นกลุ่ม
3. การนำเสนอ (Review) เพื่อทบทวนกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ซึ่งเป็นการฝึกการสื่อสารจากการเล่าประสบการณ์ เด็กจะกล้าแสดงออก รู้จักคิดตั้งคำถามและเป็นผู้ฟัง

แต่ทั้งหมดนี้สิ่งสำคัญที่สุดที่มีส่วนต่อความสำเร็จคือครู เพราะครูคือผู้ฝึกทักษะการเรียนรู้และการเอาใจใส่ต่อพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก

และนี่คือ อีกปรากฏการณ์หนึ่งในแวดวงการศึกษาที่กำลังเกิดการสร้างเครือข่ายในระดับท้องถิ่น และลงมือปฏิบัติร่วมกัน เพราะเห็นตรงกันว่าเด็กปฐมวัยเป็นวัยทองแท้ของชีวิตอย่างแท้จริง ไม่คิดรอนโยบายของภาครัฐ เพราะมันอาจไม่ทันการณ์กับโลกยุคต่อไป

อย่าลืมว่าลงทุนกับเด็กปฐมวัยในวันนี้ ผลของมันไม่ใช่วันนี้ การสร้างคนต้องใช้เวลา เราจะสร้างมนุษย์ยุคหน้าแบบไหนในบ้านเรา ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้และต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย

หวังเหลือเกินว่า นี่จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของระบบการศึกษาบ้านเราได้บ้าง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น