นพ.พิเชฐ ผนึกทอง
สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท
เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แน่นอนว่า ไม่มีใครไม่นึกถึงเทศกาลวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นเทศกาลของการมอบความรักให้กันและกันโดยเฉพาะคู่รักชายหญิง สำหรับคู่รักหลาย ๆ คู่ ที่กำลังเริ่มจะสร้างครอบครัวด้วยการแต่งงาน อาจกำลังคิดถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดสถานที่ พิมพ์การ์ดแต่งงาน เชิญแขก หรือแม้กระทั้งการหาชุดแต่งงาน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เพราะการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานนั้นเปรียบเสมือนประตูด่านแรกที่จะสกัดกั้นการส่งผ่านโรคสู่คนที่คุณรัก คุณจึงไม่ควรละเลยเรื่องนี้เป็นอันขาด แม้ว่าคุณหรือคู่รักของคุณจะไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะตามมาภายหลัง จึงควรตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ แถมยังช่วยป้องกันการเกิดโรคที่จะติดต่อไปยังลูกน้อยของคุณที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
นพ.พิเชฐ ผนึกทอง สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า สำหรับคู่รักหลายคู่ที่กำลังมองหาของขวัญให้กับคนที่คุณรัก อาจเริ่มต้นด้วยการมอบสุขภาพที่ดีตอบแทนความรักความห่วงใยเติมเต็มความรักซึ่งกันและกัน ด้วยการให้ความสำคัญกับการ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน” เพื่อให้การมีชีวิตคู่ของคุณเป็นไปด้วยความพร้อมที่จะเริ่มต้นครอบครัวใหม่ โปรแกรมการการตรวจสุขภาพ มีทั้งการตรวจร่างกายโดยสูตินรีแพทย์อย่างละเอียด (Physical Examination by OB-GYN) ตรวจหมู่เลือดและความเข้ากันได้ของเลือด (ABO and Rh Grouping) เพื่อให้ทราบหมู่เลือด ABO และ หมู่เลือด Rh+ ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทย แต่บางคนอาจมีหมู่เลือด Rh- ซึ่งหาได้ยาก ต้องมีการสำรองเลือดเพื่อความปลอดภัย และหมู่เลือด Rh - จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ทำให้เสี่ยงต่อการแท้งบุตรสูง ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เป็นการหาความเข้มของเลือดซึ่งในสตรีไทยพบว่าการทานอาหารแบบเร่งด่วนในปัจจุบันส่งผลให้ภาวะซีดสูงขึ้น ซึ่งควรเพิ่มความเข้มของเลือดโดยการทานธาตุเหล็กบำรุงก่อนตั้งครรภ์เพื่อพัฒนาการที่ดีของบุตรในครรภ์ และทราบถึงปริมาณเกล็ดเลือด ซึ่งส่งผลต่อการห้ามเลือดตอนคลอดบุตร ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และภูมิคุ้มกัน (HBs Ag and anti-HBs) เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันและเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือสายเลือด จึงอาจส่งผลต่อการมีลูกในอนาคตได้ ตรวจหาความเสี่ยงโรคธาลัสซีเมีย (Hemoglobin Typing) เป็นการตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรม เพื่อให้ทราบว่าคู่สมรสนั้น มีความเสี่ยงที่จะมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ และจะมีทางเลือกอย่างไรบ้างในการมีบุตร และหาแนวทางในการป้องกันตั้งแต่ต้น ตรวจหาเชื้อเอดส์ (Anti HIV) การตรวจหาเชื้อเพื่อจะได้มีการป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยวิธีการใส่ถุงยางอนามัย และวางแผนลดการติดเชื้อไปสู่บุตรได้ ตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน (Rubella for immune status) เป็นการตรวจเพื่อค้นหาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมันในสตรี ซึ่งผลการตรวจพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนและคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน เนื่องจากหากติดเชื้อในระหว่างตั้งครรภ์อาจมีโอกาสที่ทารกจะพิการหรือแท้งสูง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่