xs
xsm
sm
md
lg

ชายไทยน่าห่วง ป่วยมะเร็งตับมาก ตายสูง หญิงโสด ไม่มีลูกเสี่ยงมะเร็งเต้านม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชายไทยน่าห่วง ป่วย “มะเร็งตับ” มากสุด อัตราตายสูง เหตุวินิจฉัยโรคยาก มารักษาช้า ด้านผู้หญิงป่วยมะเร็งเต้านมสูงสุด แต่อัตราตายต่ำ เหตุคัดกรองโรคเจอตั้งแต่ระยะแรก หมอชี้ต้องเดินหน้างานรณรงค์คัดกรอง เผยสาวโสด ไม่มีลูกเสี่ยงมะเร็งเต้านม ด้าน สธ. เผยข้อมูลมะเร็งอาเซียนเกือบครึ่งล้มละลายจากการรักษา ใช้เงินเก็บจนหมด แถมกู้หนี้ยืมสิน

วันนี้ (20 ม.ค.) ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งทั่วโลกเมื่อปี 2555 พบว่า ประชากรโลกจำนวน 7,000 ล้านคน มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 14 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 8 - 9 ล้านคน โดยเพศชายเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดมีผู้ป่วยอยู่ที่ 1.2 ล้านคน เสียชีวิต 1.9 ล้านคน พบมีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ส่วนสาเหตุที่มีอัตราการตายสูงเกือบเท่าอัตราป่วยรายใหม่ อาจเป็นเพราะไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ รองลงมาคือ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ ส่วนเพศหญิงพบมะเร็งเต้านมมากที่สุดอยู่ที่ 1.67 ล้านคน เสียชีวิต 5 แสนคน ซึ่งถือว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ เพราะสามารถคัดกรองได้ และมารักษา รองลงมาคือ มะเร็งลำไส้ และ มะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ

ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าวว่า ส่วนประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 1.23 แสนราย เสียชีวิตประมาณ 8.5 หมื่นต่อปี มะเร็งที่พบบ่อยที่สุด คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม โดยผู้ชายเป็นมะเร็งตับมากที่สุด สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และพยาธิใบไม้ตับ ทำให้เซลล์ท่อน้ำดีอักเสบ รองลงมาคือ มะเร็งปอด อัตราการเกิดผู้ป่วยรายใหม่และเสียชีวิตใกล้เคียงกัน เนื่องจากวินิจฉัยไม่ได้ตั้งแต่แรก และการรักษาอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่วนผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด อัตราป่วยใหม่สูง แต่อัตราการตายต่ำ ซึ่งสะท้อนว่าการตรวจคัดกรอง ค้นพบโรคและรักษาตั้งแต่เริ่มแรกสามารถรักษาให้หายได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลาม ทั้งนี้ คงต้องรณรงค์ป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งให้มากขึ้น โดยการให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี รณรงค์ไม่ให้กินปลาดิบ การตรวจเต้านม เป็นต้น

มะเร็งเต้านมรู้ว่ามีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนในร่างกาย แต่พบว่าในหญิงตั้งครรภ์นั้นจะไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวจะกระตุ้นมะเร็งให้มากขึ้น ดังนั้น คนที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ก่อนอายุ 35 ปี จึงถือเป็นปัจจัยป้องกัน แต่ย่ำว่าการกินยาคุมกำเนิดนั้นไม่ส่งผล ต้องเฉพาะคนท้องเท่านั้น ดังนั้น คนที่เป็นโสด แต่งงานมีลูกหลังอายุ 35 มี ก็จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า ประกอบการใช้ชีวิตแบบตะวันตกกินอาหารที่มีไขมันมาก ออกกำลังกายน้อย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น” ผศ.พญ.เอื้อมแข กล่าว

ด้าน นพ.ภัทรวินฑ์ อัตตะสาระ รองผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่าในปี 2573 จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่พบว่าการเกิดโรคมะเร็งแต่ละชนิดมีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษา 8 ประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ไทย พม่า ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ ลาว พบว่า หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล 1 ปี จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตร้อยละ 29 ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลร้อยละ 48 ในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 59 ใช้เงินสะสมจนหมด ร้อยละ 41 ต้องกู้ยืมเงินมาจ่ายค่ารักษา มีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้นที่มีชีวิตอยู่ได้และไม่ล้มละลาย ทั้งนี้ หลังจากที่มีการเปิดเออีซีแล้วประเทศไทยต้องดำเนินการเพื่อรองรับผู้ป่วยที่จะเข้ามารับการรักษามากขึ้น โดยจัดตั้งโปรแกรมการตรวจคัดกรองมะเร็งที่มีคุณภาพ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น