โดย..สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
แรงงานต่างด้าวแม้จะเป็น “ฟันเฟือง” หนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะงานที่ใช้แรงหลายต่อหลายงาน ล้วนเป็นงานที่คนไทยไม่เลือกทำ งานเหล่านี้จึงตกเป็นของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแทน โดยเฉพาะ “พม่า ลาว และกัมพูชา” แต่ก็ถือเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พร้อมนำปัญหาต่างๆ เข้ามาสู่ประเทศไทยได้เช่นกัน
ยิ่งในช่วงปลายปี 2558 นี้จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเป็นทางการ การเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาคอาเซียนย่อมมีมากขึ้น โอกาสที่โรคภัยต่างๆ ที่จะมาพร้อมกับแรงงานเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทางเลี่ยง
การควบคุมจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น
พื้นที่ จ.ระนอง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า และมีแรงงานพม่าเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานเป็นจำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ขานรับนโยบายดังกล่าว และมีแผนในการจัดโซนนิ่งแรงงานพม่า ด้วยการจัดทำ “เมียนมาทาวน์” ขึ้นใน 2 พื้นที่คือ เทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือ และเทศบาลตำบลปากคลอง อ.เมือง จ.ระนอง
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดบริการสาธารณสุขใน จ.ระนอง ว่า การเฝ้าระวังโรคที่จะมากับแรงงานพม่าที่เข้ามาในประเทศนั้นต้องรู้ก่อนว่าคนพม่าส่วนใหญ่เป็นโรคอะไร ซึ่งจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคในกลุ่มแรงงานพม่าของ จ.ระนองนั้น พบว่า โรคที่พบบ่อย 5 อันดับแรกคือ วัณโรค ไข้เลือดออก อาหารเป็นพิษ ตาแดง และอุจจาระร่วง นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเรื่องของเพศสัมพันธ์และการคุมกำเนิดด้วย ซึ่งหากแรงงานเหล่านี้มาอย่างถูกกฎหมาย ก็จะได้รับการตรวจสุขภาพและขึ้นทะเบียน โดยจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคเหล่านี้ทั้งหมด แต่ปัญหาคือในพื้นที่มีแพปลาเกือบ 100 แห่ง จึงจำเป็นต้องมีการตรวจจับและเฝ้าระวังโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว มิเช่นนั้นอาจทำให้เกิดการระบาดขึ้นได้
สำหรับการจัดทำ “เมียนมาทาวน์” นั้น นพ.ชัยพร สุชาติสุนทร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ระนอง ให้ข้อมูลว่า การจัดทำเมียนมาทาวน์ถือเป็นการจัดระเบียบชุมชน โดยของบพัฒนาจาก จ.ระนองในการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดระนองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุข ควรมีแรงดึงดูดให้ชาวพม่ามาใช้บริการ จึงจะมีการจ้างแพทย์และพยาบาลชาวพม่าเข้ามาประจำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ปากคลอง ซึ่งจะดูแลเมียนมาทาวน์ทั้ง 2 พื้นที่คือเทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือ และเทศบาลปากคลอง เนื่องจากชาวพม่าจะมีความเชื่อมั่นมากกว่า
" เห็นได้จากเมื่อปี 2557 สมาคมประมงจังหวัดระนองได้มีการจ้างแพทย์พม่าเข้ามาช่วยตรวจที่ รพ.สต.ปากคลอง ก็พบว่าแรงงานพม่ามีการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น และช่วยลดปัญหาการส่งตัวไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลระนองได้ เนื่องจากยาบางตัว เช่น ยาเบาหวาน ยาความดัน เป็นต้น แพทย์จะต้องเป็นผู้สั่งจ่าย แต่สุดท้ายเมื่องบประมาณหมดก็ยกเลิกการจ้างแพทย์พม่าไป ทำให้ รพ.สต.ไม่สามารถสั่งยาให้ผู้ป่วยโดยตรงได้ ซึ่งจากการของบประมาณปี 2560 นั้น ส่วนหนึ่งจะนำมาจ้างแพทย์พม่า 1 คน และพยาบาลพม่า 2 คน อัตราค่าจ้างของแพทย์พม่าอยู่ที่ 3 หมื่นบาทต่อเดือน และพยาบาลอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน รวมแล้วคือ 6 หมื่นบาทต่อเดือน หรือ 7.2 แสนบาทต่อปี ”
นพ.ชัยพร กล่าวอีกว่า นอกจากการจ้างแพทย์และพยาบาลชาวพม่าแล้ว จะมีการว่าจ้างพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และมีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เข้ามาร่วมทีมด้วยในการช่วยแปลภาษา ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ช่วยคัดกรองและสอบประวัติเบื้องต้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินงานในส่วนนี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการดำเนินงานได้เต็มกระบวนการ ก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยควบคุมโรค ลดการแพร่ระบาดในชุมชน และดูแลสุขภาพของแรงงานชาวพม่าให้ดีขึ้นได้
นายสมปอง ชัยณรงค์ ผอ.รพ.สต.ปากคลอง กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.สต.ปากคลองมี พสต.จำนวน 2 คน และ อสต. 22 คน ซึ่งจำเป็นต้องมีการผลิตเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพแรงงานชาวพม่าทั้งหมดในพื้นที่ โดยเฉพาะ อสต.หากมีจำนวนมากจะสามารถช่วยงานได้เยอะ ซึ่งล่าสุดได้มีการจัดอบรมอีก 20 คน เพื่อมาชดเชยบุคลากรเดิม ทั้งนี้ หากจะให้มี อสต.ครอบคลุมทุกพื้นที่นั้น เพื่อเป็นหูเป็นตาด้านสาธารณสุขจะต้องมี อสต.ประมาณ 60-70 คน ในการดูแลชุมชนพม่าใน 10 โซนใหญ่ๆ ของ อ.เมือง จ.ระนอง
การสร้าง “เมียนมาทาวน์” เพื่อจัดระเบียบชุมชนพม่า โดยเฉพาะด้านสุขภาพนั้น หากสามารถทำได้สำเร็จ นอกจากแรงงานชาวพม่าจะมีสุขภาพที่ดีแล้ว คนไทยในพื้นที่เองก็จะมีสุขภาพที่ดีด้วยเช่นกัน ถือเป็นการอยู่ในพื้นที่ร่วมกันอย่างมีสุขภาวะที่ดี
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่