xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มโทษฆ่าข่มขืนแค่ปลายเหตุ เตือนสังคมใส่ใจเส้นทาง “อสูรร้าย” ก่อนก่อเหตุสะเทือนขวัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

1 ใน 4 ผู้ต้องหาก่อเหตุฆ่าอริ ข่มขืนสาว (แฟ้มภาพ)
จิตแพทย์วัยรุ่นชี้แก้ กม. เพิ่มโทษ “ฆ่าข่มขืน” แค่ปลายเหตุ ห่วงสังคมละเลย “เด็กถูกทำร้ายรุนแรง” กลายเป็น “อสูรร้าย” ก่อเหตุสะเทือนขวัญ อย่าปล่อยให้ “เด็กไทยไร้ตัวตน - เกิดบาดแผลที่มองไม่เห็น” เสี่ยงก่อคดีในอนาคต ชี้เคส 4 วัยรุ่นฆ่าหนุ่มข่มขืนแฟนสาว “ชุมชน - ครู - ตำรวจ - หมอ - นักสังคม” อาจละเลยปัญหา

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นถึงกรณีคดีสะเทือนขวัญเมื่อกลุ่มเด็กวัยรุ่น 4 คน ลวงฆ่าอริขุดหลุมฝังดิน พร้อมข่มขืนแฟนสาวของอริก่อนจับทิ้งเหว แต่สุดท้ายรอดชีวิต ขณะที่ผู้ต้องหาแม้ถูกควบคุมตัว แต่กลับรับสารภาพด้วยสีหน้าระรื่น ว่า ขณะนี้กระแสสังคมกำลังเร่งเร้าให้เกิดการลงโทษอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะคดีประเภทข่มขืน หรือข่มขืนแล้วฆ่า ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายยุติธรรมของไทยว่าจะขีดเส้นทางไปทางไหน แต่ตนมองว่าการปรับบทลงโทษนั้นเป็นการจมอยู่กับปลายสุดของปัญหาหรือไม่ กำลังมองข้ามเส้นทางสู่การเป็นอสูรร้ายหรือไม่

นพ.วรตม์ กล่าวว่า งานวิจัยและบทความมากมายทางด้านอาชญาวิทยา ระบุตรงกันว่า อสูรร้ายไม่ได้ถูกสร้างขึ้นใน 1 วัน แต่ถูกสร้างขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยนานนับปี คดีเล็กๆ ที่เคยก่อขึ้นถูกละเลยและพัฒนากลายเป็นคดีสะเทือนขวัญ ทุก ๆ คดีมักมีสัญญาณนำมาก่อน เป็นสัญญานที่ล่องหนในสายตาของคนในสังคม และเมื่อนำฆาตกรคดีสะเทือนขวัญทั้งหลายมาสัมภาษณ์ เกือบทั้งหมดจะเคยผ่านชะตาชีวิตอันโหดร้ายมาแล้วทั้งนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจถ่ายทอดบาดแผลของตัวเองไปให้ผู้บริสุทธิ์ เราควรกลับมาถามตัวเองว่า ชุมชนแบบไหน สังคมแบบไหน ที่ผลิตฆาตกร 4 คนให้มารวมตัวอยู่ในที่เดียวกัน เราพลาดเรื่องราวอะไรไปก่อนหน้านี้หรือไม่ คนในชุมชน เคยรับรู้ปัญหาหรือไม่ แก้ไขอย่างไร ครูที่โรงเรียน เคยเห็นพฤติกรรมผิดปกติหรือไม่ จัดการอย่างไร ตำรวจ เคยได้รับแจ้งคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือไม่ ติดตามต่อเนื่องอย่างไร แพทย์ เคยได้ตรวจและสงสัยเรื่องยาเสพติดหรือไม่ ส่งต่อไปยังใคร สังคมสงเคราะห์ เคยได้มีบทบาทหรือไม่ เพราะอะไร หรือ คนกลุ่มนี้ เขาแค่ Invisible (ไร้ตัวตน)

นพ.วรตม์ กล่าวว่า ยกตัวอย่างในต่างประเทศ มีเรื่องของเด็กชายที่ชื่อ Daniel Pelka ที่เป็นกรณีศึกษาที่เรียกว่า “Invisible Daniel” โดยแดเนียลถูกนำส่งขึ้นรถพยาบาลไปยังห้องฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2012 และได้เสียชีวิตลงในวันนั้น ผลชันสูตรพบว่า แดเนียลได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่สมอง มีภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรง กระดูกหัก รอยฟกช้ำ ทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 30 จุดทั่วร่างกาย โดยภายหลังทราบว่าเด็กชายคนนี้ถูกแม่และพ่อบุญธรรมทรมานทำร้ายร่างกายมานานหลายปี ถูกขังอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ไม่เคยทำความสะอาด ถูกอดอาหารให้ไปคุ้ยขยะที่โรงเรียน ให้กินเกลือจำนวนมากจนโคม่า หักแขนโดยไม่ได้รักษา ถูกทุบตีทั่วร่างกาย และทรมานด้วยการจับกดน้ำ

เด็กชายคนนี้โชคร้ายที่พลาดโอกาสที่จะได้รับการปกป้อง ไม่ให้เดินไปสู่เส้นทางแห่งความตาย ไม่ต่ำกว่า 26 ครั้ง เป็น “เด็กชายผู้ล่องหน” จากสังคม พลาดความช่วยเหลือจากรัฐ ตำรวจ ครู นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ พยาบาล และคนรอบข้าง นับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่เด็กน้อยมายืนอยู่ตรงหน้า บาดแผลบนตัวของแดเนียลกลายเป็น “บาดแผลที่มองไม่เห็น” จาก “ความพยายามที่น้อยเกินไป” ของคนรอบข้างในสังคม และจากการที่ทุกคนมองว่า “ไม่ใช่เรื่องของตนเอง” เด็กชายแดเนียลอาจโชคดีที่ไม่ต้องมีชีวิตทนพิษบาดแผลอีกต่อไป แต่สังคมไทยอาจจะยังมีเด็กชายผู้ล่องหนอีกไม่รู้เท่าไรที่ดันโชคร้าย เพราะยังต้องทนอยู่กับบาดแผลที่ไม่มีใครมองเห็น และรอวันที่จะส่งต่อบาดแผลนั้นให้ผู้บริสุทธิ์รายถัดไป อย่างไรก็ตาม เด็กที่เคยถูกทำร้ายไม่จำเป็นต้องกลายเป็นผู้ร้ายก่อคดี แต่ฆาตกรส่วนหนึ่งเคยเป็นเด็กที่ถูกทำร้ายรุนแรงมาก่อน” นพ.วรตม์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น