ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสเรื่อง “ลูกเทพ” มาแรงจริง ๆ ดิฉันเองก็อดไม่ได้ที่จะต้องเขียนถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถนำมาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัวได้ เพราะเชื่อว่าด้วยกระแสที่ได้รับการพูดถึงมากมาย ลูกหลานของเราก็ต้องเสพสื่อเรื่องนี้ไม่แขนงใดก็แขนงหนึ่งอย่างแน่นอน
และก็ต้องเกิดคำถามว่าลูกเทพคืออะไร ซึ่งก็อยู่ที่ว่าจะถามใคร?
เพราะถ้าไปถามคนที่เขาเลี้ยงลูกเทพ ก็จะได้รับคำตอบแบบหนึ่ง และอาจตกเข้าไปในกระแสอยากเลี้ยงกับเขาด้วยเหมือนกัน
หรือถ้าไปถามคนที่เขาสุดโต่งก็จะคิดว่าคนที่เลี้ยงลูกเทพเป็นพวกไร้สาระ เชื่ออะไรก็ไม่รู้ งมงายสิ้นดี และอาจกลายเป็นทะเลาะเบาะแว้งไปซะอีก
แล้วถ้าถามพ่อแม่ล่ะ เราเตรียมคำตอบเหล่านี้ไว้หรือยัง
ความจริงเรื่องลูกเทพก็สามารถนำมาสอนลูกคนได้มากมาย
ข้อแรก - ความเชื่อกับสังคมไทย
มีหลายกรณีที่พ่อแม่สามารถยกตัวอย่างของความเชื่อในแต่ละยุคสมัยมาเล่าให้ลูกฟังได้ รวมไปถึงเรื่องไสยศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ แต่เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่มีใครตอบได้หรอกว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่เมื่อไม่มีใครพิสูจน์ได้ แล้วลูกคิดอย่างไร เป็นการตั้งคำถามให้ลูกคิดตาม ซึ่งช่วยให้ลูกได้ฝึกทักษาะการคิดด้วย
ข้อสอง - ผู้คนขาดที่พึ่งทางใจ
การตั้งคำถามที่ต่อเนื่องมาจากข้อหนึ่งอาจจะลองพูดคุยกับลูกโดยการยกประเด็นเรื่องการขาดที่พึ่งทางใจขึ้นมาก็ได้ เป็นประเด็นที่อาจจะคุยกันได้ยาว และอาจจะได้คำตอบอื่น ๆ ที่เราอาจจะยังไม่เคยได้ยินจากปากลูกมาก่อนด้วยซ้ำ เป็นต้นว่าเราอาจจะถามว่าที่พึ่งทางใจของลูกคืออะไร พ่อแม่เป็นที่พึ่งทางใจที่เพียงพอของลูกแล้วหรือยัง
อาจยกตัวอย่างคำพูดของคนมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมขึ้นมาเป็นตัวตั้งก็ได้ เช่น นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่กล่าวไว้ว่า การเลี้ยงตุ๊กตาลูกเทพไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของสังคม และอีกส่วนก็มาจากความเชื่อส่วนตัว ซึ่งอาจมีบ้างที่เลี้ยงเพื่อต้องการที่พึ่งทางใจ เพราะตามหลักทางจิตวิทยา ก็สามารถอธิบายได้ว่า เราทุกคนยังต้องการแสวงหา ในสิ่งที่จิตใจยังขาดอยู่ บางคนมีความไม่สบายใจอะไรบางอย่าง หรือบางคนนั้นรู้สึกว่าขาดอะไรสักอย่างในชีวิต จึงต้องการบางสิ่งบางอย่างมายึดเหนี่ยวจิตใจ
ข้อสาม - การแห่ตามกระแส
หลายครั้งที่สังคมไทยมีปรากฏการณ์สิ่งใดที่เกิดความนิยมสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมักจะแห่ตาม ๆ กัน เช่น ยุคที่มีการเลี้ยงทามาก็อตจิ ก็เกิดเป็นกระแสไปทั่ว หรือกระแสนิยมจตุคามรามเทพเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนเป็นพัน ๆ ล้านก่อนจะซาไป เพียงแต่ยุคนั้นยังไม่มีโซเชี่ยลมีเดีย หรือมีก็ยังไม่มากเท่าทุกวันนี้ กระแสก็เลยไม่เปรี้ยงปร้างออกสื่อเป็นข่าวพาดหัวตัวไม้เท่ายุคนี้ที่เรื่องสื่อสารมันอยู่แค่ปลายนิ้ว
ข้อสี่ - การตลาดครอบงำ
คำว่าสังคมอ่อนแอ มักจะถูกการตลาดครอบงำเป็นจริงซะยิ่งกว่าจริง หลังจากกระแสเรื่องลูกเทพเกิดขึ้น ก็มีบรรดาสารพัดผู้ประกอบการที่เห็นโอกาสทางการตลาดก็ผุดโปรโมชั่น และการตลาดที่ต้องการเล่นกับกระแสเพื่อโหนกระแสข่าว ซึ่งมีทั้งสองด้าน ทั้งเปิดบริการต้อนรับลูกเทพ และปฏิเสธ ซึ่งก็ล้วนได้รับการตอบรับจากการได้เป็นข่าว
ข้อห้า - สื่อคือผู้ประโคมข่าว
ใช่หรือไม่ที่กระแสนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่โตมโหระทึกก็เพราะสื่อมวลชนเองก็โหมกระพือข่าว และก็กระหน่ำนำเสนอเรื่องนี้กันแทบจะทุกชั่วโมง แถมเอาไปถามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่าง ๆ ยังไม่นับผู้สื่อข่าวที่มีสังกัดสำนัก และกระแสสื่อในโซเชี่ยลมีเดียที่พยายามทำตนเป็นผู้สื่อข่าวพิเศษอีกต่างหาก และช่างบังเอิญเสียเหลือเกินที่กระแสลูกเทพนี้ขึ้นมาฮิตหลังจากวันพระราชทานเพลิงศพ คุณปอ - ทฤษฎี สหวงษ์ เรียกว่า พอหมดกระแสหนึ่งก็เกิดอีกกระแสหนึ่งขึ่นมาแทนที่ทันที
ข้อหก - อย่าลืมดูแลลูกคนด้วย
เห็นข่าวเรื่องลูกเทพแล้วก็อดไม่ได้ว่าคนที่เขาเลี้ยงลูกเทพทั้งหลาย เวลาเขาเลี้ยงลูกคน หรือลูกของเขาจริง ๆ ที่มีชีวิต เขาเลี้ยงอย่างไร ลูกเทพเป็นตุ๊กตา เป็นสิ่งสมมติ เป็นความเชื่อ ถ้าเชื่อว่าเลี้ยงแล้วจะรวย แล้วเลี้ยงลูกของตัวเองล่ะ?
ข้อสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด
ถ้าเราไม่เคยเปิดใจพูดคุยเปิดอกกับลูกคน ที่เป็นลูกของเรามาก่อน ก็ออกจะเป็นเรื่องยากที่จะชวนลูกคนของเราคุยตามแนวทาง 5 ข้อข้างต้น !
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่