รพ.กรุงเทพ เผย เทคนิคใหม่ในการรักษาโรคกระดูกสะโพกเสื่อมด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวไว เคลื่อนไหวสะดวก
นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคข้อสะโพกมากขึ้น โดยสถิติของโรคข้อเสื่อมข้ออักเสบเท่ากับ 3.5% ของจำนวนประชาการทั้งหมดที่อายุ 25 ปี พบว่า มีอัตราข้อเสื่อมเท่ากับ 4.9% ที่อายุ 45 ปี พบว่า มีอัตราข้อเสื่อมเท่ากับ 19.2% และเมื่ออายุถึง 60 ปี มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมสูงถึง 37.4% สำหรับประเทศไทยนั้น มีอุบัติการณ์ของการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมเทียมปีละกว่า 25,000 ราย สำหรับสาเหตุของโรคข้อสะโพกเสื่อมที่คนไทยเป็นกันมาก คือ โรคข้อสะโพกตายจากการขาดเลือด โดยโรคข้อสะโพกเสื่อมนั้นส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น อายุที่มากขึ้นทำให้กระดูกผิวข้อสึกกร่อน โรครูมาตอยด์
แต่สำหรับวัยกลางคนจากสถิติ พบว่า มีปัญหากระดูกสะโพกเสื่อมได้เช่นกัน สาเหตุเนื่องมาจากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือบางคนทานยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ปริมาณมาก ส่งผลให้เลือดหนืดไหลเวียนไม่ดีไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกซึ่งยื่นขึ้นไปด้านบนได้ เป็นสาเหตุทำให้หัวกระดูกสะโพกตาย รวมถึงการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมาก่อน หรือกระดูกสะโพกหัก เป็นต้น อาการของโรคจะปวดสะโพกเรื้อรังทั้งในขณะขยับตัวและนอนหลับ รู้สึกตึงเมื่อเวลาลุกนั่งเจ็บเวลาเดินลงน้ำหนัก ขึ้นลงบันไดไม่สะดวก โดยแนวทางการรักษาในแต่ละระยะของอาการไม่เหมือนกัน เริ่มตั้งแต่ให้ยา กายภาพจนถึงการผ่าตัด โดยการผ่าตัดแบบเดิมนั้นจะทำการผ่าตัดโดยเข้าทางด้านหลังสะโพก (posterior approach) หรือเข้าทางด้านข้างสะโพก (lateral approach) ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไวและลดอัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด โดยใช้ “เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (direct anterior approach total hip replacement)
นพ.พนธกร พานิชกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ (direct anterior approach total hip replacement) เป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ เป็นการผ่าตัดที่แตกต่างจากการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม โดยจะผ่าตัดเข้าจากด้านหน้าข้อสะโพก (direct anterior approach) เข้าระหว่างกล้ามเนื้อ Tensor fascia lata และ Sartorius ซึ่งจะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใด ๆ ขณะผ่าตัด และรูปแบบการผ่าตัดนั้นผู้ป่วยจะนอนหงายขณะผ่าตัด ทำให้กายวิภาคไม่ผิดท่ามากนัก การใส่ข้อสะโพกเทียมทำได้ตรงจุดและสามารถประเมินความยาวของขาได้แม่นยำขึ้น มากกว่าการผ่าตัดแบบเดิมที่ต้องนอนตะแคงข้างและมีการบิดขา สามารถใช้เอกซเรย์ C-ARM ขณะผ่าตัด เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการใส่ข้อสะโพกเทียมและประเมินความสั้นยาวของสะโพก โดยขนาดของบาดแผลผ่าตัดนั้นจะมีความยาวประมาณ 3 - 4 นิ้ว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเดิม (แบบเดิมแผลยาวประมาณ 6 นิ้ว) แผลผ่าตัดจะอยู่ด้านหน้า (anterior)และสามารถซ่อนแผลใต้รอยขอบบิกินี่ (Bikini incision) ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการอีกด้วย
สำหรับการผ่าตัดรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยเทคนิคนี้จะไม่มีการตัดกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อสะโพก ทำให้ข้อสะโพกเทียมหลุดน้อยกว่าวิธีเดิม เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อที่เป็นตัวช่วยเพิ่มความมั่นคงของข้อสะโพกเทียม สามารถผ่าพร้อมกัน 2 ข้างได้ในคราวเดียว อัตราการสูญเสียเลือดน้อยกว่า 550 cc/ 2 ข้าง เนื้อเยื่อเสียหายน้อย อัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัดลดลง เพิ่มความแม่นยำในการควบคุมความยาวของขา อีกทั้งยังใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย ทำให้การฟื้นตัวของคนไข้เร็วกว่าปกติ ลดอาการเจ็บหลังผ่าตัด สามารถเดินได้โดยไม่มีการกะเผลกเอียงของลำตัว (limping) หลังผ่าตัด สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทำงาน และเล่นกีฬาได้เร็วขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดแล้ว แพทย์ชี้ว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแนวใหม่นี้ มีการฟื้นตัวไวมาก หลังผ่าตัดข้อสะโพกเทียมผู้ป่วยสามารถเดินเองได้ 1 วันหลังผ่าตัด โดยในหลาย ๆ ราย ผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันทีภายในวันที่ผ่าตัด
นอกจากนี้ ยังมีการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด ด้วยเครื่องหัดเดินในสภาวะไร้น้ำหนัก Alter G (Anti Gravity Treadmill) ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่า ช่วยให้ฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดได้รวดเร็วโดยไม่ต้องกังวลถึงความเจ็บปวดเนื่องจากไม่มีการลงน้ำหนักที่ข้อ ทางศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพยังมีเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์สร้างภาพจำลองสำหรับผู้ป่วยรายบุคคล (Digital template Surgical Planning) เพื่อให้ข้อเทียมที่ใส่เข้าไปใหม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ลดความผิดพลาดในการวางข้อเทียม ทำให้ผลการรักษามีความแม่นยำ วัสดุข้อเทียมที่เราใช้ ยังเลือกวัสดุที่ทันสมัย ประกอบไปด้วยข้อสะโพกเทียมชนิดพิเศษ วัสดุผิวข้อที่ทำจากเซรามิก (Ceramic) เพื่อให้อายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียมยืนยาวมากที่สุด
“ที่ผ่านมา การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกโดยวิธีดั้งเดิมนั้น ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดวิธีใหม่ที่ผ่าตัดตรงสู่ข้อสะโพกด้านหน้าโดยที่ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อนี้ เป็นอีกทางเลือกใหม่ที่ช่วยตอบโจทย์ซึ่งเป็นผลดีในผู้ป่วยคือ เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวไหว เคลื่อนไหวสะดวก ภาวะแทรกซ้อนน้อย”
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่