xs
xsm
sm
md
lg

เร่งสอบโฆษณา “หมอ-คลินิก” หลังเอเยนซีพา “แจ๊ค-เบญ” คู่กรณี “แพท ณปภา” เสริมดั้งฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทยสภาเร่งสอบ แพทย์ คลินิก ยินยอมเอเยนซีโฆษณาพา “แจ๊ค - เบญ” คู่กรณี “แพท ณปภา” ทำศัลยกรรมฟรี คาดรู้ผลใน 6 เดือน

จากกรณีเฟซบุ๊กให้คำปรึกษาด้านการทำศัลยกรรม โพสต์ภาพ และข้อความ ระบุว่า ได้พา แจ๊ค ธนพล แฟนเก่านางเอกสาว แพท ณปภา ตันตระกูล และ เบญ แฟนสาว ซึ่งเป็นคู่กรณีคดีทะเลาะวิวาทกับหลานสาวของ แพท ณปภา ไปทำศัลยกรรมด้วยการเสริมจมูกฟรี โดยมีการระบุชื่อแพทย์และคลินิกชัดเจน

วันนี้ (18 ม.ค.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แถลงข่าวการเฝ้าระวังการโฆษณาด้านสุขภาพผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า กรณีข่าวพาไปทำศัลยกรรมฟรีนั้น ต้องมีการตรวจสอบว่า แพทย์ หรือสถานพยาบาล ให้การยินยอมหรือไม่ หากทราบแล้วไม่ยอมดำเนินการเพื่อให้มีการถอดการเผยแพร่นั้นออกก็จะถือว่ายินยอมให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์แทน ทั้งนี้ จะต้องมีการดูที่หลักฐานว่ามีความพยายามที่จะยับยั้งการเผยแพร่นั้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ ทั้งนี้ ยอมรับว่า ขณะนี้สถานพยาบาลมีการแข่งขันกันมาก มีการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการที่แพทย์ หรือสถานพยาบาลที่ใช้บุคคลที่ 3 ในการทำประชาสัมพันธ์แทน หากเป็นเพียงการแจ้งเรื่องราคาค่ารักษานั้นไม่ถือว่าผิด เพราะถือเป็นประโยชน์กับประชาชนในการตัดสินใจ แต่ถ้าอะไรที่เกิดผลเสียกับประชาชนแพทยสภาก็จะเข้ามาดูแล

พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 กล่าวว่า เรื่องนี้จะแบ่งการพิจารณาออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1. หากมีการเผยแพร่ชื่อแพทย์ที่ทำหัตถการจะเป็นหน้าที่ของแพทยสภาในการเข้ามาดูแล 2. หากมีการเผยแพร่ชื่อสถานพยาบาลจะมีแพทยสภา ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการ (สบส.) ในการเข้ามาดูแล และ 3. หากเป็นความร่วมมือกัน 3 ฝ่าย คือ เอเยนซี สถานพยาบาล จะมี สบส. เข้ามาดูแล โดยจะเริ่มมีการพิจารณาตั้งแต่นี้เป็นต้นไปซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายใน 3 - 6 เดือน

ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สบส. กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 จะห้ามสถานพยาบาลโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณา หรือประกาศที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณการรักษา เช่น ดีกว่า ดีที่สุด เป็นครั้งแรก หรือเปรียบเทียบผลการรักษา เป็นต้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 68 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากยังไม่ระงับการโฆษณาจะปรับเพิ่มอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท นับตั้งแต่วันที่มีเผยแพร่ ซึ่งกรณีที่เป็นข่าวนั้น สบส. จะดูตามตัวกฎหมายว่าที่มีการใช้คำที่เป็นการโอ้อวด รับรองผลการรักษา หรือทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาหรือไม่ มีการยินยอมหรือไม่ หรือเมื่อทราบว่าบุคคลที่ 3 กระทำการเผยแพร่อย่างนี้แล้วมีความพยายามในการระงับการเผยแพร่หรือไม่ โดยดูที่ลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะถือว่ายินยอมให้มีการโฆษณาแทน

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า การใช้บุคคลที่ 3 ทำการโฆษณาแทนนั้นเป็นหน้าที่ของ สคบ. ที่ต้องดูแล ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ สคบ. ได้บรรจุเข้าไปในวาระการประชุมของคณะกรรมการ สคบ. ครั้งหน้า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานใช้กฎหมายหลายตัวในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สคบ.- สบส.- แพทยสภา ตำรวจ กองบังคับการ ปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อดูแลกฎหมายร่วมกัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น