โฆษก กรธ.แจงปรับหลักพิทักษ์ รธน. ให้ศาล รธน.มีอำนาจสั่งยุติการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ได้ ไม่ทำให้คดีอาญายุติลง 30 วันอัยการไม่ชงเรื่องร้องตรงเองได้ แต่ถ้าชัดเจนเป็นกบฏ ผิดอาญา ร้อง ตร.จัดการได้ทันที เผยดึงอัยการแจมแก้ปัญหาที่ไม่มีระเบียบชัดเจนในการร้อง ตัดทิ้งปมความผิดการได้อำนาจโดยวิธีนอก รธน.
วันนี้ (12 ม.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่าที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในประเด็นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีการปรับปรุงองค์ประกอบ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาดให้หยุดการกระทำที่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองฯ และเพิ่มขั้นตอนให้อัยการเป็นผู้รับคำร้องและตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 30 วัน หากไม่ส่งเรื่องหรือไม่ดำเนินการ ผู้ร้องมีสิทธิร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ ทั้งนี้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไม่ทำให้กรณีหากมีความผิดทางอาญาต้องยุติลง
“วัตถุประสงค์ของมาตรานี้ที่ร่างกันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มีไว้เพื่อป้องกันหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ส่วนในเนื้อหาอื่นๆ หากแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะเข้าลักษณะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือไม่ เราให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัย” นายอุดมกล่าว
โฆษก กรธ.กล่าวอีกว่า กรธ.วางหลักให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์ร้องผ่านอัยการก่อน เพราะไม่ต้องการให้คำร้องไปสุมอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้อัยการต้องพิจารณาคำร้องว่ามีมูลหรือไม่ภายใน 30 วันก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากอัยการเห็นว่าไม่ควรส่งหรือไม่ดำเนินการ ผู้ร้องยังสามารถร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเองได้ด้วย
“ที่ให้เวลาอัยการ 30 วันเพื่อหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพราะเรื่องนี้มันเป็นปัญหาของสาระในเชิงการกระทำ ที่จะต้องตีความว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ สมควรได้รับการห้ามปรามหรือไม่ แต่กรณีที่เป็นการกระทำที่ชัดเจน เช่น การเป็นกบฏ หรือทำผิดกฎหมายอาญา สามารถร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการจับกุมหรือยุติการกระทำได้โดยทันที โดยไม่ต้องใช้กระบวนการตามมาตรานี้” นายอุดมกล่าว
โฆษก กรธ.กล่าวว่า การปรับปรุงมาตรานี้โดยดึงอัยการเข้ามาอยู่ในกระบวนการเพิ่มขึ้นจากมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ก็เพื่อแก้ปัญหาอดีตที่ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการร้อง หรือการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ และจะต้องมี พ.ร.บ.ระเบียบวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบกฎเกณฑ์การปฏิบัติของอัยการเพิ่มขึ้นตามมาเพื่อรองรับมาตรานี้
นายอุดมเปิดเผยว่า ส่วนประเด็นความผิดกรณีการได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยวิธีการที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญนั้น กรธ.ได้ตัดออกไป เพราะเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาได้ถูกนำไปใช้เป็นประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองจนสร้างปัญหามากมาย และมีการยุบไปหลายพรรค